เวลาที่คุณเห็นใครก็ตามกำลังฝึกซ้อมตีโต้กันไปมา อย่าดูแค่ว่านักปิงปองเขาตีโต้กันได้รุนแรงและโต้กันได้นานเท่านั้น ต้องสังเกตให้ดีด้วยว่าตำแหน่งที่เขาส่งลูกออกไปลงโต๊ะฝั่งตรงข้ามในพื้นที่เดิมเสมอหรือไม่ และพื้นที่ที่ว่านี้อยู่ตรงไหนบนโต๊ะ
สมัยที่ผมเพิ่งเริ่มต้นฝึกซ้อมกับครูจันทร์ ชูสัตยานนท์ที่ใต้ถุนยิมเนเซียม 1 สนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน ต้องฝึกควบคุมทิศทางของการตีโต้ให้ส่งลูกลงที่มุมปลายโต๊ะของฝ่ายตรงข้ามเสมอ เรียกว่าตีเข้ามุมกันเลยก็ว่าได้ บ่อยครั้งทีเดียวที่จะเฉี่ยวลงปลายโต๊ะ กลายเป็นลูกกู้ดอยู่บ่อยๆ
การฝึกซ้อมที่เห็นกันทั่วไปโดยเฉพาะคนที่ฝึกกันเอง ไม่มีโค้ชคอยตักเตือน มักไม่สนใจว่าจะตีลงตรงไหน ส่วนใหญ่ฝึกตีกันแบบกลัวไม่ลงโต๊ะ เลยส่งลูกลงตรงกลางโต๊ะเป็นส่วนใหญ่ แถมตีไม่แม่นเสียอีก มุ่งแต่แรง หมุน กับเร็วกัน โดยไม่สนใจวิธีควบคุมทิศทางของลูก
การฝึกควบคุมทิศทางเพื่อส่งลูกลงในตำแหน่งที่ต้องการเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ให้คิดจินตนาการหรือขีดเส้นแบ่งพื้นที่บนโต๊ะปิงปองเป็น 9 ช่องแล้วส่งลูกไปลงยังช่องที่ต้องการให้ได้ พอเก่งขึ้นแล้วแทนที่จะแบ่งเป็น 9 ช่องให้แบ่งพื้นที่ให้เป็นช่องเล็กลงไปอีก ช่วงแรกให้ฝึกตีลูกที่ไม่หมุน พอแม่นแล้วจึงเล่นลูกหมุนแบบท้อปสปิน ค่อยๆเพิ่มความหมุนขึ้นเรื่อยๆ
โค้ชปิงปองญี่ปุ่นสอนให้ฝึกตีโต้กันไปมาผสมกันหลายแบบสลับกัน บางลูกให้ตีลูกไม่หมุน บางลูกหมุนแบบท้อปสปิน บางลูกหมุนข้างเลี้ยว หมุนมากหรือน้อยสลับกันไป วิถีของลูกที่ลอยไปก็ต้องปรับให้โค้งมากบ้างโค้งน้อยบ้าง สลับกันไปเรื่อยๆในการตีโต้กัน โดยพยายามใช้ท่าทางแบบเดียวกันตลอดเพื่อทำให้คู่ต่อสู้อ่านท่าไม่ออก ไม่ได้ตีโต้กันแบบธรรมดาอย่างที่เราเห็นในทีวีแล้วนึกกันง่ายๆว่าเขาเล่นลูกแบบเดียวกันทุกลูก สังเกตให้ดีว่าเวลาโยกกัน เขาส่งลูกฉีกเลี้ยวออกเส้นข้างเสียด้วยซ้ำไป
คนที่ตีแม่นจะกลายเป็นคู่ซ้อมที่ทุกคนอยากเล่นด้วย ทีมใดก็ตามที่มีนักปิงปองแบบนี้รับรองว่าจะช่วยกันฝึกซ้อมจนเก่งขึ้นได้ทุกคน