ปิงปองมียุทธวิธีเอาชนะที่ไม่ต่างจากการต่อสู้แบบประชิดตัว ไม่ว่าจะเป็นต่อยมวย ยูโด มวยปล้ำ หรือซูโม่ ซึ่งใช้หลักทำให้คู่ต่อสู้ต้องขยับตัวจนเสียสมดุลแล้วจึงจู่โจมทำคะแนน โดยในการแข่งปิงปองนั้น ยิ่งยืนไกลโต๊ะมากขึ้นเท่าใด ก็จะถูกตีโยกได้มากขึ้นเท่านั้น พอถูกโยกไปโยกมาก็ยังไม่หนักใจนัก แต่ถ้าต้องขยับตัวเข้าหรือออกจากโต๊ะ ก็มักจะโทษหาว่าเป็นเพราะฟุตเวิร์คไม่ดี ทั้งๆที่เกิดจากการฝึกฝนตีลูกต่างจังหวะกันไม่เป็นต่างหาก
เมื่อลูกปิงปองที่ลอยข้ามเน็ตมากระเด้งที่โต๊ะฝั่งเรา วิถีของลูกที่กระเด้งแบ่งเป็น 3 จังหวะ
- จังหวะที่ 1 เป็นช่วงที่ลูกเพิ่งกระเด้งขึ้นมีระยะความสูงมากกว่าหรือเท่ากับเน็ตขึ้นไป
- จังหวะที่ 2 เป็นช่วงที่ลูกกระเด้งสูงสุด
- จังหวะที่ 3 เป็นช่วงที่ลูกเริ่มวิ่งลง
โดยทั่วไปมักสอนกันว่าต้องพยายามตีลูกจังหวะที่ 1 เพื่อทำให้คู่ต่อสู้ตีไม่ทัน แต่ถ้าเจอลูกที่ลอยมาแปลกๆโดยเฉพาะการรับเสริฟ ให้รอให้ลูกย้อยลงมาแล้วตีกลับในจังหวะที่ 3 กันใช่หรือไม่ โค้ชหลายๆคนจะสอนให้ฝึกตีลูกจังหวะที่ 2 ให้ได้ทุกลูก
ถ้ายึดหลักดังกล่าว อะไรจะเกิดขึ้น ... คุณต้องคอยขยับตัวเข้าออกจากโต๊ะอยู่ตลอดเวลาใช่หรือไม่
แทนที่จะต้องคอยขยับตัวเข้าออก ควรฝึกตีปิงปองให้ได้ในทุกจังหวะโดยยืนตั้งหลักรักษาระยะห่างจากโตีะคงเดิมไว้เสมอ หรือแค่เคลื่อนตัวไปทางซ้ายหรือขวาแค่นั้น
- ถ้าโดนหยอดหรือคู่ต่อสู้ส่งลูกมาสั้น ก็รอสักนิดให้ลูกลอยเข้ามาหาตัวแล้วตีลูกในจังหวะที่ 3
- ถ้าคู่ต่อสู้ส่งลูกยาวมาปลายโต๊ะ แม้จะเป็นลูกวิธีโค้งโด่งมาก็ไม่ต้องถอยออกไปตี ต้องฝึกตีลูกในจังหวะ 1 หรือ 2 สวนออกไปให้ได้โดยไม่ต้องเคลื่อนตัวเข้าหรือออกห่างจากโต๊ะไปกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มั่นใจว่าลูกที่คู่ต่อสู้ส่งมาหมุนอย่างไร ลูกจังหวะที่ 2 หรือที่จุดสูงสุดของการกระเด้งเป็นจังหวะที่ปลอดภัยที่สุด เพราะทิศทางของลูกที่วิ่งเข้าหาตัวเราจะขนานไปกับโต๊ะ ช่วยทำให้ปรับมุมหน้าไม้ได้ง่ายกว่าการตีลูกจังหวะที่ 1 หรือ 3 ซึ่งวิถีของลูกจะเปลี่ยนมุมไปเรื่อยๆ