นักปิงปองที่ชอบซื้อไม้ใหม่กับติดยางใหม่อยู่เรื่อยๆ มักมีสาเหตุประการหนึ่งเพราะไม่เห็นว่าไม้กับยางที่ตัวมีอยู่ดีอย่างไร ไม่รู้สึกว่าไม้ช่วยให้ควบคุมลูกปิงปองได้อย่างที่คิด ไม่รู้สึกว่ายางปิงปองจะช่วยให้ลูกปิงปองกระเด้งได้ดีขึ้น พอได้ไม้ใหม่มาสักพักก็เปลี่ยนหาของใหม่มาใช้อีก นี่แสดงว่ายังไม่รู้จักไม้ปิงปองของตัวเองดีพอ หลายคนตีลูกปิงปองได้แรงไม่ใช่เพราะได้ประโยชน์จากตัวไม้ราคาแพงกับยางปิงปองชั้นหนึ่งที่แปะไว้หรอก แต่ตีได้แรงที่เกิดจากการเหวี่ยงแขนของตัวเองต่างหาก ไม่เคยตีโดยมีความรู้สึกว่าแรงที่ได้นั้นส่วนไหนมาจากการกระเด้งของตัวไม้หรือแรงส่วนไหนมาจากการกระเด้งของตัวยางที่แปะ
ลองใช้แค่นิ้วชี้กับนิ้วโป้งจับปลายด้ามปากกาแล้วเหวี่ยงแบบไม้ปิงปองเพื่อสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถ้าจับปากกาแรงๆจะไม่รู้สึกถึงน้ำหนักของตัวปากกาเลยใช่ไหม จะรู้สึกเหมือนไม่ได้จับอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าจับปลายด้ามปากกาเบาๆแล้วเหวี่ยงแขน จะเห็นตัวปากกาสะบัดตามและรู้สึกถึงน้ำหนักของตัวปากกาขึ้นมาทันที
ความรู้สึกที่ว่านี้เป็นความรู้สึกที่ละเอียดมาก ยากที่จะเขียนอธิบายว่ามันเป็นความรู้สึกอย่างไร เมื่อใช้เวลาฝึกจนคุ้นเคยกับไม้ปิงปองและยางปิงปองที่ใช้ให้มากขึ้น เมื่อเหวี่ยงไม้เป็น มีวงสวิงที่ราบเรียบ ต่อเนื่องสวยงาม โดยจะรู้สึกถึงน้ำหนักของไม้ที่มือจับอยู่และรู้สึกถึงน้ำหนักของลูกปิงปองที่ลอยมากระทบไม้ได้ต่อเมื่อ
- จับไม้ไม่แน่นไม่หลวมเกินไป
- ใช้แรงจากนิ้วชี้และนิ้วโป้งที่กดบนหน้าไม้ได้อย่างสมดุล
- ไม่เกร็งขณะเหวี่ยงแขนท่อนบน จะรู้สึกถึงน้ำหนักของแขนท่อนล่าง
- ไม่เกร็งขณะเหวี่ยงแขนท่อนล่าง จะรู้สึกถึงน้ำหนักของไม้ที่อยู่ในมือ
- เหวี่ยงไม้โดยให้ลูกลอยมากระทบไม้ ไม่ใช่เอื้อมไม้ไปหาลูก
- มีช่วงเวลาที่ลูกปิงปองสัมผัสหน้าไม้นานขึ้น
- เหวี่ยงแขนโดยมีจังหวะเร่งส่งแรงไปตามทิศทางที่ตั้งใจส่งลูกไป
สมาธิและความตั้งใจจดจ่ออยู่กับการเหวี่ยงไม้สำคัญมาก ถ้าตีแบบขาดสติย่อมไม่มีทางรู้สึกถึงน้ำหนักของไม้ปิงปองและน้ำหนักของลูกปิงปองที่ลอยมากระทบ