การตีปิงปองให้เป็น ทำได้ไม่ยาก แต่การตีปิงปองให้ถูกต้อง ทำได้ยากกว่ามาก แค่ซ้อมตีโฟร์แฮนด์กันไปมาให้ได้หลายๆครั้ง สามารถตีได้เร็ว แรง และแม่นยำเป็นแล้วก็ตาม คุณควรหาทางปรับปรุงการตีให้ดีขึ้นไปอีก พยายามตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมจึงต้องตีอย่างนั้น ทำไมต้องเหวี่ยงแขนอย่างนี้ จะต้องเลือกจังหวะไหนให้ไม้กระทบลูก ต้องปรับหน้าไม้อย่างไรให้เหมาะกับแต่ละจังหวะ จะตีลูกปิงปองด้วยความเร็วหรือความเร่งดีกว่ากัน
จังหวะที่ลูกกระทบหน้าไม้ต้องเป็นจังหวะที่ไม้กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุด พอคู่ต่อสู้ตีลูกกลับมาต้องเคลื่อนตัวไปตั้งหลักให้ถูกตำแหน่งแล้วเหวี่ยงแขนอัดแรงไปที่เท้าหลัง จากนั้นปล่อยแรงที่อัดไว้โดยเหวี่ยงแขนเร่งความเร็วไปข้างหน้าสวนกับทิศทางที่ลูกวิ่งมา (ไม่ใช่ยกไม้ไปรอให้ลูกวิ่งมากระทบก่อนแล้วจึงออกแรงเหวี่ยง) พอลูกกระเด้งออกจากหน้าไม้ไปแล้วให้เหวี่ยง follow through ตามเล็กน้อยให้ไม้ไปหยุดด้านหน้าลำตัว อย่าให้ไม้หยุดเกินแนวศรีษะ อย่าเคลื่อนน้ำหนักเกินศูนย์กลางของลำตัว ... โดยทั่วไปมักแนะนำกันแค่นี้
การตีปิงปองต้องอาศัยการยืดหดของกล้ามเนื้อแขน ในจังหวะอัดแรงซึ่งเหวี่ยงแขนไปข้างหลังเป็นจังหวะที่กล้ามเนื้อยืดตัว จากการวิจัยพบว่า จะเกิดพลังงานในกล้ามเนื้ออัดแรงไว้มากสูงสุดเมื่อเริ่มจากเหวี่ยงแขนอัดแรงจากช้าไปเร็วให้มีความเร่ง เริ่มจากหมุนสะโพกไปข้างหลังช้าๆ หมุนไหล่ตาม เหวี่ยงแขนท่อนบนไปข้างหลัง แล้วยืดแขนท่อนล่างออกอย่างรวดเร็ว
พลังงานจะถูกเก็บไว้ในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมากขึ้นเมื่อยืดแขนมากขึ้น แต่พลังงานเหล่านี้จะสลายกลายเป็นความร้อนอย่างรวดเร็วมาก เพียง 1 วินาทีก็จะสูญเสียพลังงานไปแล้วกว่า 50% ดังนั้นเมื่อยืดแขนในจังหวะอัดแรงต้องเหวี่ยงแขนหดกล้ามเนื้อเข้ามาตีลูกให้ต่อเนื่องกันทันที ควรฝึกเหวี่ยงแขน(ยืดกล้ามเนื้อ)อัดแรงในจังหวะที่ลูกกระเด้งบนโต๊ะฝั่งตัวเองแล้วปล่อยแรงตีลูกออกไปต่อเนื่องกัน ไม่ใช่ว่าอ้าแขนไว้นานแล้วไม่ยอมเหวี่ยงแขนตีเสียที
ถ้าจับเวลาช่วงจังหวะที่ 1 back swing ตั้งแต่เริ่มเหวี่ยงแขนไปข้างหลังเพื่อยืดกล้ามเนื้อ ต่อมาจังหวะที่ 2 foreward swing เริ่มเหวี่ยงแขนเร่งความเร็วจนไม้กระทบลูก และจังหวะที่ 3 follow through ตั้งแต่ไม้กระทบลูกออกไป พบว่าเสียเวลาในแต่ละจังหวะดังนี้
- จังหวะที่ 1 ประมาณ 65 - 70 % โดยใช้เวลาในการเตรียมตีลูกหมุน มากกว่า เวลาที่ใช้เตรียมลูกตบ
- จังหวะที่ 2 ประมาณ 15 - 20 % โดยใช้เวลาในการเหวี่ยงตีลูกหมุน น้อยกว่า เวลาที่ใช้ตีลูกตบ โดยแชมป์ปิงปองใช้ระยะวงเหวี่ยงสำหรับลูกหมุนมีระยะทางมากกว่าลูกตบ แสดงว่าใช้ความเร่งในลูกหมุนอย่างมาก
- จังหวะที่ 3 ประมาณ 20 - 25 %
จากระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละจังหวะ แสดงว่าต้องเหวี่ยงแขนอัดแรงจากช้าไปเร็ว และเมื่อปล่อยแรงให้เหวี่ยงแขนปล่อยแรงเร่งความเร็วจากช้าไปเร็วเช่นกัน โดยใช้เวลาประมาณ 3 เท่ากับการอัดแรงมากกว่าการปล่อยแรง