หลายสิบปีก่อนโน้นมีการแข่งขันปิงปองที่อาคารไคเชคชนม์ ติดกับธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่แห่งเก่าที่ประตูน้ำ เห็นนักปิงปองคนหนึ่งเอาแต่รับ รับแบบบล้อคบ้าง โยนบ้าง ดูอายุอานามก็ยังหนุ่มอยู่ เขาเล่นรับได้เหนียวมาก คนดูยืนล้อมโต๊ะออกเสียงเชียร์กันดังสนั่น ในที่สุดคนที่เอาแต่รับคนนี้ก็ชนะ พอดูดีๆก็ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นแชมป์ปิงปองมือ 1 ของไทยในสมัยนั้น ซึ่งแน่นอนว่า เขาเป็นมือบุก แต่พอเปลี่ยนมารับก็ใช่ย่อย พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเก่งจริงๆ
ถ้าถามคนที่เล่นปิงปองว่าใครเป็นมือบุกบ้าง เกือบจะร้อยทั้งร้อยจะตอบว่าเป็นมือบุกใช่ไหม แล้วถ้ามือบุกเจอมือบุกล่ะจะเป็นอย่างไร จะเอาแต่บุก บุก บุก อย่างเดียว พอเจอคู่แข่งที่เก่งกว่าจะบุกได้อย่างที่เคยทำได้เช่นนั้นหรือ
สมัยก่อนที่ผลัดกันเสริฟคนละ 5 ลูก สามารถเปลี่ยนเสริฟหลายๆแบบเพื่ออ่านจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ พอเสริฟไปก็สามารถใช้ตัวบัง หลอกไม่ให้คู่ต่อสู้เห็นจังหวะที่ไม้กระทบลูก แถมยุคนั้นยางปิงปองยังใช้สีเดียวกันทั้งสองด้านได้อีก การเสริฟจึงหลอกกันได้ไม่ยาก ถ้ารับกลับมาไม่ดีก็จะถูกบุกไม้ 3 ทำให้เกมยุคก่อนนั้นโต้กันไปมาเพียงไม่กี่ลูกก็ได้คะแนนกันแล้ว โดยทั่วไปคะแนนหนึ่งๆจะเล่นกันมากที่สุดแค่ 3 – 5 ไม้เท่านั้น
ทุกวันนี้โอกาสได้ปรียบจากการเสริฟลดลงไปมาก ไม่ใช่ง่ายๆที่จะบุกไม้ 3 แล้วทำคะแนนเพราะคู่ต่อสู้มักจะอ่านลูกเสริฟออกแล้วโต้กลับมาในจุดที่ยากจะบุกกลับ เกมการแข่งขันแต่ละคะแนนจึงไม่จบกันง่ายๆ ต้องโต้กันไปมาหลายครั้ง (ซึ่งเรียกว่าการ Rally) ใครที่เหนียวกว่าคือคนที่ได้คะแนน แทนที่จะบุกก่อนแล้วได้เปรียบ ก็อาจกลายเป็นการบุกก่อนแล้วตัวเองเสียเปรียบ เนื่องจากคู่ต่อสู้สามารถใช้แรงของเรานั่นแหละโต้กลับมา ส่งลูกมาลงในตำแหน่งที่เราไม่ถนัด
คนที่อยากเป็นแชมป์ปิงปองหรืออย่างน้อยสามารถผ่านเข้ารอบลึกๆได้ต้องสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ที่เก่งกว่า เมื่อถูกบุกก็ต้องสามารถเปลี่ยนรูปแบบการเล่นของตนมาเป็นมือรับ รอจังหวะจนกว่าฝ่ายบุกจะทำเสียเองหรือไม่ก็จนกว่าจะเสียหลักเปิดช่องโหว่ให้ถูกบุกบ้าง ซึ่งการรับในที่นี้ไม่ใช่ว่าจะต้องถอยห่างจากโต๊ะออกไปเล่นลูกตัด เพียงแค่รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาลูกที่บุกมาให้โต้กลับไปได้อย่างปลอดภัย ไม่เปิดโอกาสที่ตัวเองเสียเปรียบ
นักปิงปองต้องรู้จักคิดฉลาดเตือนตัวเองเสมอว่า ถ้าเขาแรงมา เราก็ต้องเบากลับไป ต้องฝึกทำตนเป็นฝ่ายรับให้เป็นด้วย
จริงหรือที่ว่า ใครชิงบุกก่อนคือคนได้เปรียบ