นักปิงปองที่เสริฟดีถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งเพราะสามารถเอาเปรียบคู่แข่งขันได้อย่างถูกกติกา และเป็นลูกแรกที่ใช้ควบคุมเกมที่คู่ต่อสู้ตีลูกถัดไปโต้กลับมาให้เป็นไปอย่างใจ สาเหตุที่เปลี่ยนจากการให้เสริฟคนละ 5 ลูกมาเป็นเสริฟคนละ 2 ลูกก็เพื่อลดโอกาสที่คนเสริฟจะเอาเปรียบทำคะแนน แค่เสริฟทำแต้มรวดเดียว 5 คะแนนทำให้คู่ต่อสู้แทบหมดกำลังใจจะไล่ทัน

ก่อนปีค.ศ.1973 หรือปีพ.ศ.2516 ท่าเสริฟปิงปองไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรนัก ส่วนใหญ่เสริฟแบคแฮนด์เพราะสามารถพลิกไม้ให้ปั่นลูกได้หลายแบบมากกว่าเสริฟโฟร์แฮนด์ ต่อมานักปิงปองจีนริเริ่มการเสริฟโฟแฮนด์แบบตวัดไม้หลายจังหวะตามมาด้วยการเสริฟโยนลูกสูงซึ่งอาศัยแรงดึงดูดของโลกช่วยสร้างแรงตกกระทบบนหน้าไม้ ช่วยทำให้ลูกกระเด้งออกไปข้างหน้าเอง เปิดโอกาสให้ผู้เสริฟทำหน้าที่เพียงปั่นลูกให้หมุน กลายเป็นลูกเสริฟที่เรียกว่า corkscrew spin ซึ่งลูกปิงปองจะหมุนแบบลูกกระสุนปืน คือ หมุนรอบแกนที่กำลังวิ่งไปข้างหน้า ทำให้เมื่อลูกปิงปองกระทบโต๊ะจะเลี้ยวมากขึ้นและเมื่อลูกกระทบไม้ของผู้รับจะกระเด้งออกไปทางขวาหรือทางซ้ายก็ได้ขึ้นกับว่าหน้าไม้กระทบลูกปิงปองส่วนบนหรือส่วนล่างของลูก

 

 

การเสริฟที่ดีต้องใช้ท่าเสริฟเดียวที่หมุนลูกได้สารพัดแบบในช่วงเสี้ยววินาทีที่ไม้กระทบลูก ซึ่งโดยทั่วไปจะเสริฟได้อย่างน้อย 3 จังหวะ

  1. จังหวะแรก ได้ลูกหมุนตามวงเหวี่ยงของหน้าไม้ที่ผู้เสริฟเหวี่ยงแขน
  2. จังหวะที่สอง พอไม้หยุด ถ้าตามด้วยการกระแทกไม้ออกไปตรงๆจะได้ลูกที่ไม่หมุน
  3. จังหวะที่สาม สะบัดไม้ออก จะได้ลูกที่หมุนกลับทิศทางตรงข้ามกับจังหวะแรก

 

 

นอกจากนี้ระนาบของการเหวี่ยงไม้ยังช่วยทำให้เกิดลูกหมุนแบบ backspin หรือ topspin ได้อีก

  • ถ้าเคลื่อนไม้จากบนลงล่างจะได้ลูกเสริฟที่ผสม backspin
  • ถ้าเคลื่อนไม้จากล่างขึ้นบนจะได้ลูกเสริฟที่ผสม topspin

 

 

การยืนหันหลังเพื่อเสริฟโฟร์แฮนด์ จะช่วยซ่อนหน้าไม้หรือซ่อนแนวการเหวี่ยงไม้ไม่ให้คู่ต่อสู้เห็นหรือทำให้เห็นได้น้อยที่สุด อีกทั้งจะช่วยทำให้สามารถสะบัดไม้เข้าหาลูกได้แรงขึ้นจากการเหวี่ยงเอวและแขนเข้าหาลูกโดยใช้เท้าซ้ายเป็นจุดหมุนหรือจะขยับตัวตามการเหวี่ยงเพื่อทอนความแรงลง

ถ้าเหวี่ยงไม้แรงหรือกว้างหรือโยนลูกเสริฟสูง ต้องสามารถปรับความแรงกลายเป็นเสริฟค่อยหรือสั้นได้ หรือไม่ได้เหวี่ยงไม้เลยแต่สามารถเสริฟลูกแรงโดยใช้น้ำหนักตัวช่วย

ผู้เสริฟที่เก่งต้องสามารถหลอกให้คู่ต่อสู้เข้าใจผิด ทำให้อ่านลูกเสริฟไม่ออกแม้ว่าจะใช้วิธีดูจากลูกที่ลอยมาก็ตาม

  • ลูกเสริฟเร็วที่ส่วนใหญ่เป็น topspin ต้องหาทางเสริฟแบบ backspin และทำให้ท่าเสริฟดูเหมือนเสริฟ topspin
  • ลูกเสริฟสั้นที่ส่วนใหญ่เป็น backspin ต้องทำให้เป็น topspin บ้าง sidespin บ้าง และทำให้ท่าเสริฟดูเหมือนเสริฟ backspin

 

 

ยิ่งกว่านั้นต้องใช้ท่าเดียวกันที่เสริฟได้ทั้งลูกที่หมุนมากหรือหมุนน้อยได้ด้วย โดยเลือกใช้จุดกระทบบนหน้าไม้ให้เป็นและควบคุมระยะเวลาที่ลูกสัมผัสกับหน้ายาง

  • ถ้าลูกกระทบไม้บนส่วนที่ไกลจากด้ามหรือกระทบส่วนปลายของไม้จะได้ลูกหมุนจัด
  • ถ้าลูกกระทบไม้บนส่วนที่ใกล้ด้ามหรือกระทบส่วนต้นหรือกลางของไม้จะได้ลูกหมุนน้อย
  • ถ้าปล่อยให้ลูกอยู่บนหน้าไม้นานพอดีๆจะได้ลูกหมุนกำลังดี แต่ถ้าอยู่นานไปหรือน้อยไปจะได้ลูกหมุนน้อยลง

ก่อนจะเสริฟทุกครั้ง ต้องจินตนาการให้เห็นภาพท่าเสริฟและวิถีของลูกที่ลอยไปว่ากระทบโต๊ะฝั่งนี้ลอยข้ามเน็ตไปลงตำแหน่งไหนบนโต๊ะอีกฝั่ง คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าคู่ต่อสู้จะโต้กลับส่งลูกมาทางใดเพื่อเตรียมบุกไม้ 3

ต้องฝึกเสริฟจนกระทั่งอย่าว่าแต่เกมละ 21 คะแนนเลย ด้วยท่าเสริฟท่าเดียวกันสามารถเสริฟลูกที่แตกต่างกันได้ทุกลูก (บางลูกแม้แต่ตัวผู้เสริฟเองยังไม่รู้ว่าหมุนอย่างไรด้วยซ้ำ)

Copyright of www.TableTennisTip.com - www.facebook.com/TableTennisTip/

Go to top