ปิงปองยุคนี้เล่นกันเร็วและแรงขึ้นมาก เร็วขึ้นจนต้องปรับขนาดลูกปิงปองให้ใหญ่ขึ้นเพื่อหวังว่าจะทำให้เล่นกันช้าลง แต่ในที่สุดก็ยังเร็วอยู่ดีและนับวันจะยิ่งเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ ผู้ชนะคือคนที่เล่นได้เร็วกว่าจนคู่แข่งขยับตัวไม่ทัน นักปิงปองที่ฉลาดต้องรู้จักคิดจัดวิธีการขยับตัวของตนเองว่าลูกใกล้ลูกไกลจะขยับตัวแค่ไหนจึงจะพอดี จะใช้แรงจากการเหวี่ยงแขนหรือจะใช้แรงจากการบิดเอวมากน้อยกว่ากัน ถ้าเอาแต่ฝึกออกแรงเป็นแค่ท่าเดียวทุกลูก แบบนี้ไปได้ไม่ถึงไหนหรอก แค่ขยับตัวมากไปหน่อย ก็ตีไม่ทันแล้ว
แม้ว่าแรงที่ได้จากการถ่ายน้ำหนักตัวจะสร้างแรงโมเมนตัมได้มากกว่าแรงจากการเหวี่ยงแขนหลายเท่าก็ตาม แต่การขยับตัวขยับเท้าเพื่อปรับมุมในการสร้างแรงจากการถ่ายน้ำหนักตัวกว่าจะถ่ายเทไปถึงมือต้องอาศัยเวลา ซึ่งเวลาที่ว่านี้อาจไม่ทันกับการดวลลูกบนโต๊ะระยะสั้นถึงปานกลางแล้วก็ได้
การฝึกปิงปองเบื้องต้น ต้องเรียนรู้การถ่ายน้ำหนักตัวให้เกิดขึ้นในจังหวะก่อนการเหวี่ยงแขน หากจะตีได้แม่นยำต้องขยับตัวเข้าหาลูกแล้วตีโดนลูกในตำแหน่งด้านหน้าของลำตัวในจุดเดิมเสมอ เช่น ท่าตีโฟร์แฮนด์ควรตีโดนลูกในตำแหน่งด้านหน้าของสะโพกขวาห่างจากลำตัวประมาณ 1 ศอก ซึ่งแน่นอนว่าการฝึกแบบนี้ต้องอาศัยการขยับตัว เป็นการสอนให้นักปิงปองหน้าใหม่รู้จักท่าตีปิงปองที่ดีซึ่งได้นำมาแนะนำไว้ในเว็บ TableTennisTip.com นี้อยู่แล้ว ซึ่งยังมีเทคนิคขั้นที่สูงขึ้นอยู่อีก ใครที่ยังไม่ผ่านท่าเบื้องต้นก็ขออย่ารีบร้อนฝึกข้ามขั้น
สำหรับการตีโต้ลูกในระยะใกล้โต๊ะถึงระยะปานกลาง เพื่อมุ่งให้สามารถเล่นเกมที่เร็วได้มากขึ้น ให้ขยับตัวน้อยลง แล้วเปลี่ยนไปใช้แรงจากหัวไหล่เหวี่ยงแขนให้มากขึ้น จากภาพนี้ให้ใช้เหวี่ยงแขนท่อนบนไปข้างหลังลำตัวโดยใช้แรงจากหัวไหล่ ซึ่งแน่นอนว่าต้องฝึกบริหารให้มีกล้ามเนื้อหัวไหล่และกล้ามเนื้อด้านหน้าอก
ในจังหวะอัดแรง ให้ควบคุมมุมตรงข้อศอกให้แขนท่อนบนกับท่อนล่างงอคงที่ไว้ตลอด อย่าเหยียดแขนท่อนล่างออกไป เหวี่ยงแขนท่อนบนอัดแรงไปข้างหลัง พอปล่อยแรงจากหัวไหล่ออกไปให้ใช้วิธีปรับมุมหน้าไม้เพื่อควบคุมทิศทางว่าต้องการส่งลูกตรงหรือลูกทะแยงกลับไป (ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการฝึกของนักปิงปองหน้าใหม่)