ท่าเสริฟยอดนิยมเห็นจะหนีไม่พ้นท่าที่มีชื่อว่า Pendulum Serve ได้ชื่อตามการใช้แขนเหวี่ยงแบบลูกตุ้มนาฬิกา เมื่อก่อนจะเหวี่ยงจากขวาไปซ้ายเป็นหลัก แต่ยุคนี้สามารถเหวี่ยงจากซ้ายไปขวาได้ด้วย (Reverse Pendulum) ถ้าดูไม่ดีจะไม่รู้ว่าลูกปิงปองที่เสริฟมาหมุนข้างไหนกันแน่
ไม่ว่าจะหมุนในจังหวะที่แขนเหวี่ยงเข้าหรือเหวี่ยงออก ผู้เสริฟต้องรักษาสมดุลของร่างกายไว้ตลอดเพื่อพร้อมที่จะบุกในไม้ 3 ดังนั้นการเสริฟที่ดีต้องไม่ขยับตัวและแขนให้มากนัก ซึ่งถ้าพึ่งแต่แรงจากการเหวี่ยงแขนเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถส่งแรงออกไปปั่นลูกให้หมุนหรือแรงได้เต็มที่ ดังนั้นจึงต้องอาศัยแรงจากการถ่ายน้ำหนักตัวเข้ามาช่วยตามวิดีโอนี้
ยืนหันหลังให้กับโต๊ะเพื่อเพิ่มระยะห่างจากหัวไหล่ขวากับโต๊ะ สามารถใช้การบิดเอวหมุนลำตัว ช่วยในการถ่ายน้ำหนักในการเสริฟไปในทุกทิศทางได้ถนัดขึ้น อีกทั้งยังช่วยไม่ให้คู่ต่อสู้เห็นทิศทางในการเหวี่ยงไม้และหน้าไม้ในจังหวะก่อนที่ไม้จะกระทบลูก
สังเกตให้ดีว่าในจังหวะอัดแรง มุมข้อศอกแทบคงที่เป็นมุมฉากไว้ตลอด โดยอัดแรงจากการถ่ายน้ำหนักไปข้างหลังพร้อมกับเหวี่ยงหัวไหล่ไปข้างหลัง
ส่วนจังหวะส่งแรงใช้การถ่ายน้ำหนักตัวลงมาจากขาหลังมาขาหน้า ช่วยสะบัดหัวไหล่ไปข้างหน้า เหวี่ยงแขนท่อนล่างโดยใช้ข้อศอกเป็นจุดหมุน พร้อมกับพับมุมข้อศอกเข้ามาเพื่อเร่งความเร็วในจังหวะที่ไม้กระทบลูก
ที่สำคัญมากคือการหลอกคู่ต่อสู้ให้อ่านทิศทางการหมุนได้ยากมาก โดยการใช้วงสวิงที่เหวี่ยงอัดแรง ต่างจากวงสวิงที่ส่งแรงออกไป ส่วนหน้าไม้ก็จะหันให้คู่ต่อสู้เห็นด้านหลังของไม้ไว้เสมอจนกว่าจะกระทบลูกนั่นแหละซึ่งใช้ระยะทางที่สั้นมาก ยากที่จะอ่านจากหน้าไม้ที่พลิกเปลี่ยนมุมในพริบตาเดียว
สาเหตุที่หันหน้าไม้ไปข้างหลังหรือหงายมือขึ้นในตอนตั้งท่าก็เพื่อจะได้ใช้การหมุนท่อนแขน จากหน้ามือที่หงายขึ้นกลับมาเป็นคว่ำมือ ช่วยส่งแรงในจังหวะที่ไม้กระทบลูก
วงสวิงที่ใช้จากด้านหลังส่งแรงเข้าหาลูกเป็นวงกลมแบบคว่ำ ซึ่งเป็นไปตามแนวของหน้าไม้ที่หงายไปข้างหลังไว้ก่อนและสอดคล้องกับแนวการบิดลำตัวและท่อนแขน (ไม่ใช่เหวี่ยงตามรูปขวาที่เป็นวงกลมแบบหงาย)
ลำดับการถ่ายน้ำหนักในการเสริฟของ Ma Long ดูจังหวะไม้กระทบลูกให้ดีว่ามีแรงช่วยในการเสริฟหลายแรงเลย