ทำไมจึงตีติดเน็ต ... หลายคนคงตอบว่าเพราะคว่ำหน้าไม้มากไปหรือไม่ก็เพราะเจอกับลูกที่หมุนแบคสปินมา ถ้าตอบเช่นนี้แสดงว่าลืมนึกถึงตัวแปรอย่างน้อยอีก 2 อย่าง นั่นคือ จังหวะที่ไม้กระทบลูกนั้นเป็นช่วงไหนที่ลูกกำลังกระเด้งออกจากโต๊ะ กับ แรงที่ตีโต้กลับไปได้แรงพอดีที่จะผลักลูกข้ามเน็ตกลับไปหรือไม่ หากรู้จักปรับจังหวะและความแรงให้ดี จะสามารถตีลูกข้ามเน็ตกลับไปได้เสมอต่อให้เป็นลูกแบคสปินหนักมากก็ตาม
สมมติว่ากำลังตีโต้ลูกที่ไม่หมุน โดยตั้งหน้าไม้รับให้ตั้งฉากกับพื้นและไม่ต้องออกแรงตีกลับ จะพบว่าถ้าตั้งไม้ให้กระทบลูกในจังหวะที่ลูกกระเด้งขึ้นจากโต๊ะ ลูกก็จะกระเด้งขึ้นจากไม้ แต่ถ้าตั้งไม้ให้กระทบลูกในจังหวะที่ลูกกระเด้งสูงสุด ลูกก็จะกระเด้งออกจากไม้ในแนวนอน แต่ถ้าตั้งไม้ให้กระทบลูกในจังหวะที่ลูกกระเด้งลง ลูกก็จะกระเด้งลงจากไม้
คราวนี้หากใช้จังหวะที่ลูกลอยสูงสุดซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความเสี่ยงที่ลูกจะติดเน็ตน้อยที่สุด ออกแรงตีจากไม้กลับออกไปตามทิศทางของเส้นสีม่วง จะพบว่าลูกปิงปองจะกระเด้งออกจากไม้ตามเส้นสีเขียววิ่งข้ามเน็ตย้อนกลับไปได้โดยไม่ต้องคว่ำหน้าไม้แต่อย่างใด
หากเข้าใจหลักการหาทิศทางของแรงผลลัพธ์จะสามารถตีให้ไม้กระทบลูกในจังหวะใดก็ได้เพียงรู้จักปรับหน้าไม้และออกแรงตีให้เหมาะสม ถ้าลูกแบคสปินมาหนักก็ต้องออกแรงตีขึ้นไปข้างหน้ามากขึ้น แต่ถ้าเป็นลูกแบคสปินที่ลอยมาสูงก็สามารถคว่ำหน้าไม้ตบได้เลย
หมายเหตุ
สามารถลดแรงที่เป็นผลจากลูกแบคสปินที่ลอยมา(เส้นสีดำ) โดยเลือกตีให้ใกล้กับหัวลูกซึ่งเป็นขั้วของการหมุนให้มากที่สุด เพราะที่จุดขั้วของการหมุนจะมีแรงจากการหมุนน้อยที่สุด และหวดหรือเคาะลูกออกไปจากหน้าไม้ให้เร็วเพื่อลดโอกาสที่พื้นที่หน้ายางจะปะทะเสียดสีกับลูกปิงปอง (หลักการนี้ใช้จัดการกับลูกหมุนได้ทุกประเภท)