นักปิงปองมือใหม่มักบ่นว่าไม้ปิงปองกระเด้งไม่แรงพอ บ่นแล้วบ่นอีก เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก สุดท้ายก็หันไปซื้อไม้ปิงปองที่กระเด้งแรงสุดๆแบบ Offensive +++ และใช้ยางปิงปองที่กระเด้งสุดเช่นกัน ซึ่งไม้ปิงปองที่จะมีคุณสมบัติเช่นนี้ได้ก็คือไม้ที่มีน้ำหนักมาก อย่างน้อยตัวไม้มีน้ำหนักอย่างน้อย 90 กรัมขึ้นไปซึ่งต้องเสียแรงเหวี่ยงมิใช่น้อย
สาเหตุที่ไม้ที่มีน้ำหนักมากสามารถตีลูกปิงปองออกไปได้แรงเกิดจากน้ำหนักของไม้ทำให้สร้างโมเมนตัมได้มากกว่าไม้ที่มีน้ำหนักเบา ตามสูตร โมเมนตัม = มวล x ความเร็ว หรือ P = MV แต่ใช่ว่าไม้ที่มีน้ำหนักเบาจะตีลูกออกไปได้แรงน้อยกว่าเสมอไปไม่ หากนักปิงปองรู้จักก้าวเท้าเข้าหาลูกแล้วถ่ายน้ำหนักตัวเข้าหาลูก
การก้าวเท้าเข้าหาลูกจะช่วยทำให้เลิกเอื้อมหรือบิดตัวตี ถ้าไม่ยอมขยับตัวแล้วใช้แต่แรงแขนตีอย่างเดียว โมเมนตัมที่เกิดขึ้นจะได้จากมวลของแขนกับแรงที่ได้มาจากแขนเหวี่ยงออกไปเท่านั้น แต่ถ้ารู้จักเคลื่อนตัวแล้วถ่ายน้ำหนักตัวเข้าหาลูก น้ำหนักตัวของผู้เล่นเองที่โถมเข้าหาลูกจะสร้างโมเมนตัมได้สูงกว่าการใช้แขนเหวี่ยงอย่างเดียว
น้ำหนักตัวส่วนใหญ่ของร่างกายอยู่ที่ส่วนของสะโพกและลำตัว ซึ่งกว่าจะเคลื่อนตัวเข้าลูกได้จังหวะพอดีต้องอาศัยเวลานานกว่าการเหวี่ยงแขนอย่างเดียว ดังนั้นในการฝึกซ้อมจึงไม่ควรฝึกตีลูกปิงปองให้เร็วเกินกว่าที่ร่างกายจะเคลื่อนตัวทัน ควรฝึกอ่านลูกให้ออกว่าคู่ต่อสู้จะตีมาอย่างไรในทิศทางใด ฝึกคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อช่วยทำให้มีเวลาเพียงพอที่จะเคลื่อนตัวเข้าหาลูกและอัดแรงไปที่เท้าหลังโดยบิดสะโพก เอว และลำตัวตาม ฝึกตีลูกช้าๆก่อนจนกว่าจะเคลื่อนตัวได้เร็วพอแล้วจึงตีให้เร็วและแรงขึ้น
ในการฝึก ถ้าใส่ใจกับการเหวี่ยงแขนและหน้าไม้มากเกินไปมักทำให้ลืมการถ่ายน้ำหนักตัว ดังนั้นจึงไม่ควรใส่ใจกับการเหวี่ยงแขนและหน้าไม้เกินไปนัก
โมเมนตัมที่เกิดจากการถ่ายน้ำหนักจะถ่ายเทไปยังลูกปิงปองได้ดีต่อเมื่อในจังหวะที่ไม้กระทบลูกนั้นเคลื่อนลำตัวพร้อมกับแขนและหน้าไม้พร้อมกันไป หรือถ้าจะทำให้โมเมนตัมถ่ายเทได้เต็มที่ ต้องฝึกเคลื่อนลำตัวไปข้างหน้าหรือหมุนเอวแล้วปล่อยให้ลำตัวเคลื่อนที่ช้าลงเพื่อทำให้โมเมนตัมจากน้ำหนักลำตัวถ่ายเทไปที่แขนเพื่อเร่งความเร็วของหน้าไม้ในที่สุด