สมรรถภาพของร่างกายไม่ว่าความแข็งแรงหรือความทนทาน ความว่องไว เป็นต้น จะมีสูงสุดเมื่ออายุประมาณ ๓๐ ปี แล้วจะค่อยลดลงร้อยละ ๑ ทุกปี ดังนั้น เมื่ออายุ ๖๐ ปีแล้ว จะมีความแข็งแรงลดลงร้อยละ ๓๐ เมื่ออายุ ๓๐ ปี
โดยเฉลี่ย การออกกำลังกายจะสามารถชะลอการลดลงของความแข็งแรงได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น
ผู้สูงอายุจำเป็นต้องออกกำลังอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มีหลักดังต่อไปนี้
๑. ถ้าไม่เคยออกกำลัง จะต้องศึกษาหลักการ ให้ถูกต้องและค่อยๆ ทำ อย่าหักโหม ถ้าหากมีโรคประจำตัว ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
๒. เลือกชนิดของการออกกำลังให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและถูกกับนิสัย
๓. อย่าแข่งขันกับผู้อื่น เพื่อเอาแพ้เอาชนะ แต่จะออกกำลังกายเพื่อกำลังกายของตนเอง
๔. ระวังอุบัติเหตุ
๕. ทำโดยสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ ๓-๔ ครั้ง
๖. เมื่อเกิดอาการผิดปกติอย่างใดควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะถ้ามีอาการหน้ามืดหรือใจสั่นผิดปกติ ควรชะลอการออกกำลังลงและหยุด
๗. ควรออกกำลังเป็นหมู่คณะ หรือมีเพื่อนร่วมการออกกำลัง
ชนิดของการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุมีหลาย ชนิดดังนี้
๑. การเดิน
การเดินเป็นวิธีการออกกำลังที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ (ยกเว้นแต่ผู้สูงอายุที่มีความพิการของเท้าและข้อ ทำให้ลำบากในการเดิน)
มีข้อที่ต้องปฏิบัติคือต้องเดินเร็วให้เกิดการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หากเดินเร็วมากไม่ได้ ต้องเพิ่มเวลาการเดินให้มากขึ้น ควรใช้รองเท้าที่เหมาะสม เนื่องจากการเดินเป็นการออกกำลังแต่ส่วนเท้าเป็นส่วนใหญ่ขณะเดินมีการแกว่งแขนและบริหารกล้ามเนื้อคอและหน้าอกบ้าง
พยายามเดินบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ ปลอด-ภัยจากโจรผู้ร้าย และอุบัติเหตุ
พยายามเดินตอนเช้า
มีเพื่อนหรือกลุ่มร่วมในการเดิน จะช่วยให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น
๒. การวิ่งช้าๆ
การวิ่งต่างกับการเดินคือ การเดินจะมีเท้าข้างใดข้างหนึ่งแตะพื้นอยู่เสมอ ส่วนการวิ่งจะมีช่วงใดช่วงหนึ่งที่เท้าไม่แตะพื้น
ผู้สูงอายุถ้าสามารถวิ่งได้ก็ไม่มีข้อห้ามที่จะไม่ให้วิ่ง แต่จะต้องมีข้อเท้าที่ดี (เพราะการวิ่งจะมีแรงกระแทกที่ข้อมากกว่าการเดิน อาจทำให้บาดเจ็บได้) รวมถึงการสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม
๓. กายบริหารท่าต่างๆ
กายบริหารท่าต่างๆ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ แต่ควรจะต้องบริหารให้เกิดผลถึงระดับหัวใจเต้นเพิ่มขึ้น
๔. การรำมวยจีน
หลักการของการรำมวยจีนคือ การเคลื่อนไหวช้าๆ แต่ใช้เวลาและสมาธิด้วย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ แต่ต้อง มีครูผู้ฝึกที่ดี มีกลุ่มที่เหมาะสมและต้องใช้เวลาปฏิบัติอย่างจริงจัง ผู้ที่ปฏิบัติหลายคนที่ผู้เขียนได้พบปะและ รู้จักมีสุขภาพและแข็งแรงดีอย่างน่าประหลาด
๕. โยคะ
การฝึกโยคะเป็นการออกกำลังผสมกับควบคุมการหายใจให้เข้าจังหวะกัน ต้องมีครูฝึกที่รู้จริง ถ้าปฏิบัติอย่างจริงจังก็ให้ประโยชน์สูง
๖. ชนิดของการออกกำลังมีมากมายรวมทั้งกีฬาชนิดต่างๆ ทุกอย่าง
การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคนมีประโยชน์ทั้งนั้น ที่สำคัญจะต้องรู้หลักการออก- กำลังกายแต่ละชนิด ทำท่าที่ถูกต้อง และออกกำลังสม่ำเสมอตามสภาพของร่างกาย ไม่หักโหม ไม่รุนแรง ไม่แข่งขัน ก็จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี
ขอให้เลือกชนิดการออกกำลังที่ตัวชอบและเหมาะกับสถานภาพ จะทำให้การออกกำลังกายมีความอภิรมย์และยืนยาว
ข้อมูลสื่อ
ชื่อไฟล์: 344-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 344
เดือน/ปี: ธันวาคม 2550
คอลัมน์: ผู้สูงอายุ…สู่ชีวิตที่มีคุณภาพ
นักเขียนหมอชาวบ้าน: นพ.บรรลุ ศิริพานิช
ข้อมูลสื่อ
ชื่อไฟล์: 344-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 344
เดือน/ปี: ธันวาคม 2550
คอลัมน์: ผู้สูงอายุ…สู่ชีวิตที่มีคุณภาพ
นักเขียนหมอชาวบ้าน: นพ.บรรลุ ศิริพานิช
ไทยจ่อเข้า 'สังคมผู้สูงอายุ' เต็มตัวปี 68 ล่าสุดกว่า 1 ล้านคนนอนติดเตียง! โดย ไทยรัฐออนไลน์ 19 มี.ค. 2557 13:20
อ่านข่าวต่อได้ที่: http://www.thairath.co.th/content/410946