ลูกปิงปองจะถูกตีออกไปจากหน้าไม้ได้แรงมากน้อย ขึ้นกับว่าในจังหวะที่ไม้กระทบลูกมีแรงโมเมนตัมถ่ายทอดออกมาจากหน้าไม้สู่ลูกปิงปองได้มากเท่าใด ตามหลักแล้วยิ่งมีมวลมากขึ้นก็ย่อมเกิดแรงโมเมนตัมมากขึ้น (p=mv) แต่คงไม่มีใครเอาไม้ปิงปองผูกติดกับหน้าอกไว้แล้วใช้ลำตัวโถมน้ำหนักเข้าใส่ลูกปิงปองหรอกใช่ไหม โมเมนตัมที่จะถ่ายเทเข้าใส่ลูกปิงปองต้องเกิดจากไม้ที่เหวี่ยงด้วยความเร็วสูงสุด ซึ่งได้จากการถ่ายเทโมเมนตัมภายในร่างกายจากอวัยวะส่วนใหญ่ไปสู่อวัยวะส่วนย่อย จากขาไปสะโพก จากสะโพกไปสู่ไหล่ จากไหล่ไปสู่แขนท่อนบน จากแขนท่อนบนไปสู่แขนท่อนล่าง จากแขนท่อนล่างไปสู่มือ จากมือไปสู่ไม้ปิงปอง และสุดท้ายจากไม้ปิงปองไปสู่ลูกปิงปอง หาใช่ใช้แรงจากขาข้ามขั้นไปสู่ไม้ปิงปองแม้แต่น้อย
ภาพแสดงการเคลื่อนไหวต่อไปนี้ บอกอะไรท่านบ้าง
แรงที่ใช้ตีลูกปิงปองเบาๆที่มีน้ำหนักประมาณ 2.7 กรัม ไม่ได้เกิดจากแรงของหน้าไม้ที่กระทบลูกปิงปองออกไปเท่านั้น หากยังต้องอาศัยแรงที่เกิดจากการประสานงานกันของการเหวี่ยงแขนช่วงหัวไหล่ การสะบัดแขนช่วงข้อศอก การบิดลำตัวหรือบิดเอว และการถ่ายน้ำหนักจากเท้าหลังไปเท้าหน้า เมื่อประสานแรงจากอวัยวะเหล่านี้ให้ถูกจังหวะเวลาจะช่วยทำให้สามารถตีลูกออกไปได้แรงที่สุดโดยออกแรงน้อยที่สุดหรือนัยหนึ่งช่วยประหยัดแรงนั่นเอง ต่างจากนักปิงปองมือใหม่ที่ตีลูกโดยใช้แรงจากการเหวี่ยงแขนอย่างเดียว พอตีได้ไม่นานก็จะเหนื่อยเมื่อยล้าช่วงแขน
การถ่ายทอดแรงที่ดีเริ่มจากการถ่ายน้ำหนักจากเท้าหลังมาเท้าหน้า โดยการถ่ายทอดแรงตามแนวเส้นตรงทำให้เกิด linear momentum เป็นแรงที่มากพอที่จะเคลื่อนสะโพกซึ่งเป็นส่วนที่มีน้ำหนักมากที่สุดของร่างกาย จากนั้นร่างกายส่วนบนจะหมุนตามกลายเป็นแรงแบบ angular momentum โดยใช้แกนกลางของลำตัวตามแนวตั้งเป็นจุดศูนย์กลางของการหมุน
พอลำตัวส่วนบนหมุนก็จะดึงแขนท่อนบนให้เหวี่ยงตามโดยมีหัวไหล่เป็นจุดหมุน พอแขนท่อนบนเหวี่ยงออกก็จะดึงแขนท่อนล่างให้หมุนตามโดยใช้ข้อศอกเป็นจุดหมุน
จากภาพ 1-5 เป็นช่วงปล่อยแรงจากขามาสู่แขนจนกระทั่งตีลูกออกไป โปรดสังเกตว่าช่วงขามีการถ่ายแรงจากขาหลังมาขาหน้า เริ่มจากขาหลังงอมากหน่อยเพื่อทิ้งน้ำหนักลงที่ขาหลัง 70% และในจังหวะที่ไม้กระทบลูกนั้นขาหลังและขาหน้างอพอๆกันแสดงถึงน้ำหนักได้ถ่ายเทมาที่ขาทั้งสองเท่าๆกันแล้ว โดยยังคงรักษาตำแหน่งแกนกลางของลำตัวให้คงอยู่ในตำแหน่งเดิมหรือเคลื่อนตามแรงไปข้างหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ตำแหน่งของหัวไหล่ยังเคลื่อนที่ตามการเหวี่ยงแขนไปด้านหน้าเพียงเล็กน้อย เพื่อใช้หัวไหล่เป็นจุดหมุนให้แรงที่ส่งต่อมาจากลำตัวถ่ายทอดแรงไปยังแขนได้ความเร็วสูงสุด จากนั้นจะมีการเหวี่ยงแขนท่อนบนจากแนวด้านหลังมาจนถึงตำแหน่งข้างลำตัวแล้วสะบัดแขนท่อนล่างโดยใช้ข้อศอกเป็นจุดหมุนซึ่งจะเหวี่ยงไปข้างหน้าเร็วมากจนเห็นภาพเบลอ ไม่น่าเชื่อว่าการถ่ายทอดแรงจากขาและลำตัวเพียงเล็กน้อยจะสามารถสร้างแรงตีได้มากขนาดนี้ พอพ้นจังหวะที่ไม้กระทบลูกออกไปจึงปล่อยให้ลำตัวเคลื่อนที่ตามการถ่ายน้ำหนักได้ตามอิสระ
คราวนี้มาดูการออกแรง Loop ดูบ้าง จะเห็นว่าเขาใช้แรงดีดของขาและเอวเพื่อส่งแรงขึ้นในแนวดิ่ง โดยใช้การดีดขาเพื่อผลักสะโพกขึ้นไปตรงๆในระยะทางที่สั้นมาก สังเกตรูปที่ 1-6 ว่าระดับเอวตั้งแต่ช่วงอัดแรงจนถึงช่วงที่ไม้กระทบลูกนั้น เอวยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับโต๊ะด้วยซ้ำ
เมื่อ follow through ตามวงเหวี่ยงไปแล้ว ถ้ายังเหยียดแขนยืดออกไปไกลๆนอกลำตัว กว่าจะออกแรงลากแขนกลับมาตั้งท่าเตรียมพร้อมก็ต้องใช้แรงและเสียเวลานาน จึงแนะนำให้หุบแขนท่อนบนเข้าแนบชิดตัวเอาไว้แล้วจึงบิดเอวเพื่ออัดแรงจะทำได้ง่ายและเร็วกว่ามาก ขอให้สังเกตช่วงอัดแรงว่า นักปิงปองจีนเหวี่ยงแขนท่อนบนไปข้างหลังเพื่ออัดแรงน้อยกว่าแขนท่อนล่าง ไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่ได้เหวี่ยงแขนท่อนบนไปข้างหลังในจังหวะที่ลูกกำลังกระเด้งขึ้น แต่เขาได้ตั้งท่าเตรียมพร้อมให้แขนท่อนบนแนบลำตัวพร้อมไว้ก่อนเสมอแล้วบิดลำตัวไปด้านหลังเพื่ออัดแรงจึงดูเหมือนว่าแขนท่อนบนถูกเหวี่ยงไปด้านหลังเยอะมาก
กว่าจะถ่ายน้ำหนักเข้าหาลูกได้แบบนี้ต้องฝึกฝนกันอย่างไร มาดูวิดีโอนี้กัน
เมื่อ follow through ไปจนสุด น้ำหนักตัวต้องลงไปที่เท้าหน้า สะโพกต้องขยับเล็กน้อยจากขวามาซ้ายหรืออยู่ตำแหน่งเดิม ต่างจากวิธีผิดๆที่มักใช้กัน เช่น หมุนตัวถ่ายน้ำหนักผิดจากเท้าหน้ามาเท้าหลัง หรือใช้การหมุนเอวอย่างเดียวไม่ได้ถ่ายน้ำหนักจะเห็นว่าสะโพกหมุนตัวจากซ้ายมาขวา(ของตัวผู้เล่น)ตามเด็กที่เห็นในวิดีโอข้างบนนี้
ดูให้ชัดๆกันอีกที่ว่า เมื่อถ่ายน้ำหนักจากเท้าหลังมาเท้าหน้าแล้ว ตำแหน่งสะโพกเป็นอย่างไร