สมัยที่ผมฝึกตีปิงปองกับครูจันทร์ ชูสัตยานนท์ที่ยิมเนเซียม 1 สนามกีฬาแห่งชาติที่ปทุมวัน ครูจันทร์เป็นโค้ชให้กับพวกผมที่เป็นเด็กๆโดยไม่คิดเงิน ช่วงแรกที่ผมเริ่มฝึก ท่านปล่อยให้ผมตีปิงปองให้ดูระยะหนึ่งก่อนจากนั้นจึงค่อยให้คำแนะนำว่าต้องแก้ไขการตีอย่างไรบ้าง แม้ครูจันทร์มีอายุมากแล้วไม่สามารถตีท่าทางตามที่ท่านบอกได้ทุกท่า แต่ด้วยคำสอนที่เต็มไปด้วยเหตุและผลทำให้เข้าใจได้ไม่ยาก และสามารถดูนักปิงปองรุ่นพี่ที่ตีท่านั้นๆจนคล่องแล้วเป็นตัวอย่างที่ดีได้อีก ต่างจากยุคนี้ที่สนามปิงปองปล่อยให้นักกีฬาตีปิงปองกันเองโดยไม่มีผู้ฝึกสอนคอยควบคุมและให้คำชี้แนะ ทำให้นักปิงปองฝึกตามแบบคนที่ดูแล้วรู้สึกว่าเล่นเก่งเล่นดีหรือพยายามเลียนแบบท่าตีที่ดูจากยูทูบ ถึงมีนักปิงปองที่รับสอนปิงปองมาที่สนามด้วยก็มักสอนแต่คนที่จ่ายเงินจ้างเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 200-300 บาท ไม่สนใจจะเข้าไปช่วยให้คำแนะนำคนอื่น
การได้เห็นการฝึกซ้อมอย่างเอาจริงเอาจังเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยาก ที่ยากกว่านั้นซึ่งหาดูไม่ได้แล้วคือการสอนของครูจันทร์นั่นเอง ท่านเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัยเป็นอย่างยิ่ง พวกผมต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย ไม่พูดคุยกันเล่นๆไปทำลายสมาธิการฝึกของคนอื่นเขา ทุกคนเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาฝึกตีปิงปอง ทุกครั้งใครตีไม่แม่น ตีลูกออกหรือติดเน็ต หรือตีไม่ลงตำแหน่งที่ฝึกซ้อมกันจะมีเสียงคำว่า ขอโทษครับ ขอโทษค่ะ ให้ได้ยินเสมอ ซึ่งคนที่พูดคำว่าขอโทษไม่ได้พูดมาจากคนที่ติดออกเสมอไปหรอก แต่กลับเป็นคู่ซ้อมอีกข้างหนึ่งต่างหากที่ต้องกล่าวคำว่าขอโทษ เพราะถ้าตัวเองส่งลูกตีโต้กลับไปได้ดี ไม่แรงหรือเร็วเกินไป และสามารถตีลงตำแหน่งที่ต้องการอย่างแม่นยำแล้ว คงไม่เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งตีลูกออก
การฝึกซ้อมจนกระทั่งสามารถส่งลูกไปลงตำแหน่งที่ต้องการบนโต๊ะได้นั้นเป็นขั้นตอนแรกๆที่สำคัญมาก เพราะจากนั้นครูจันทร์จะสอนให้ตีลูกโฟร์แฮนด์สลับกับแบคแฮนด์โดยคู่ซ้อมฝ่ายหนึ่งตีลูกตรงในขณะที่อีกฝ่ายตีลูกทะแยงข้ามเน็ต
ทุกคนที่ฝึกกับครูจันทร์ต้องฝึกตีให้เป็นทุกท่า ไม่เว้นแม้แต่ลูก chop หรือการฝึกของมือรับเพื่อใช้รับลูกที่ top spin มาโดยการตี back spin ยาวๆกลับไป ต้องเรียนรู้ทั้งการสับลูกให้ back spin หนักก็ได้เบาก็ได้ แล้วสลับเป็นฝ่ายฝึก top spin กลับมาบ้าง