นักปิงปองส่วนใหญ๋ในวันนี้มักเป็นเด็กวัยรุ่นมีนิสัยตามวัยคะนองที่ชอบบุกหรือใช้ความแรงความหมุนเอาชนะคู่ต่อสู้ พอออกแรงบุกไปกะว่าจะทำคะแนนได้ก็ทุ่มสุดแรงเกิดโดยไม่คิดเผื่อว่าคู่ต่อสู้จะตีโต้กลับมาได้อีก เมื่อตีโต้กันแรงๆแบบดวลกันก็ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องหลายๆครั้ง ถ้าคู่แข่งขันมีฝีมือพอๆกันหรือดีกว่า คนที่มีพื้นฐานดีกว่าเท่านั้นที่จะเอาตัวรอด

การวางเท้าก่อนจะเริ่มเหวี่ยงไม้ต้องมีความมั่นคง ต้องเคลื่อนตัวเข้าหาลูกแล้ว"หยุด"การเคลื่อนตัวเพื่อสร้างสมดุลแล้วจึงถ่ายน้ำหนักตัวเข้าหาลูก จึงต้องรู้จักคาดการณ์ก่อนล่วงหน้าว่าลูกจะย้อนกลับมาที่ใดจะได้เคลื่อนตัวไปรอไว้ก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลารวดเร็วมากแค่คิดก็ไม่ทันแล้ว ดังนั้นนักปิงปองจึงต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกในหลายสถานการณ์ ฝึกจนชินจะได้สามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียเวลาคิด

 

 

จากวิดีโอนี้จะเห็นว่านักกีฬาจีนทั้งคู่วางเท้าซ้ายขวาไว้ห่างจากกันมากทำให้มีหลักที่มั่นคงมากในการออกแรงโดยไม่เสียสมดุล เขาย่อตัวโดยอาศัยการงอเข่าซึ่งทำให้สามารถใช้แรงดีดจากเข่าและเท้าในการเคลื่อนตัวไปหาลูก แต่การวางเท้าที่ห่างเมื่อถูกโยกจะเคลื่อนตัวได้ช้ากว่าการวางเท้าให้แคบ เรียกว่าได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง อย่างไรก็ตามการส่งลูกยาวแบบทะแยงไปลงปลายโต๊ะ ถึงคู่ต่อสู้จะโยกกลับมาก็ไม่มีทางที่จะตีฉีกไปไกลจากตัวได้มากนัก

ขอให้สังเกตแนวลำตัวตั้งแต่เอวขึ้นไปจนถึงศีรษะว่าถูกใช้เป็นแกนในการหมุนลำตัวส่วนบนเพื่อเหวี่ยงแขน และแนวลำตัวยังคงเป็นเส้นตรงแทบจะตั้งฉากกับพื้นตลอดเวลา ช่วยทำให้สายตายังจับจ้องไปข้างหน้าได้ตลอด

แทนการถ่ายน้ำหนักจากเท้าหลังไปเท้าหน้าแบบดีดขึ้นซึ่งต้องเสียเวลาถ่ายน้ำหนักกลับจากเท้าหน้ามาเท้าหลัง กลับใช้การถ่ายน้ำหนักตามแนวนอนตามแนวระนาบเพื่อช่วยให้แนวลำตัวคงที่ได้ตลอด หรือเปลี่ยนไปถ่ายน้ำหนักดีดขึ้นจากทั้งสองขาพร้อมกัน

นอกจากนี้ท่าการวางลำตัวในการเสริฟและหลังจากเสริฟยังรักษาสมดุลดีมาก ทำให้พร้อมสำหรับไม้สามไม่ว่าจะพร้อมรับหรือพร้อมรุกก็ตาม

ที่สำคัญคะแนนแต้มนี้ไม่ได้เกิดจากการบุกจนสุดแรงแม้แต่น้อย แต่ใช้การส่งลูกไปยังตำแหน่งที่คู่ต่อสู้ตีไม่ถนัด ชิดตัวบ้าง ห่างตัวบ้าง พอคู่ต่อสู้ถอยก็ตีลูกสั้นลงและลดความแรงลงจนทำให้เสียหลักส่งลูกกลับมาไม่ลงโต๊ะ

Copyright of www.TableTennisTip.com - www.facebook.com/TableTennisTip/

Go to top