ความหมุนของลูกปิงปองเป็นสิ่งสำคัญในการตีปิงปองยุคใหม่ โดยเฉพาะการเสริฟที่ใช้การหมุนลูกหลากหลายแบบในการหลอกคู่ต่อสู้ หรือใช้การหมุนของลูกในการตีแบบ top spin ซึ่งจะเกิดแรงกดของอากาศจากด้านบนลงมาบนลูกทำให้มีวิถีของลูกในช่วงขาลงที่สั้นกว่าปกติ ทำให้สามารถตีลูกแรงมากออกไปแล้วยังลงโต๊ะ ช่วยในการควบคุมทิศทางและระยะของลูกได้แน่นอนกว่าลูกไม่หมุน

ลูกจะหมุนมากหรือน้อยขึ้นกับองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่

  1. แรงที่ใช้ตีลูก
  2. ทิศทางของแรงที่ส่งจากไม้ไปยังลูกปิงปอง
  3. ระยะเวลาที่ลูกสัมผัสหน้ายางต้องพอดี

(สังเกตให้ดีว่า ไม่ได้ขึ้นกับมุมหน้าไม้ว่าต้องคว่ำหรือหงายมากน้อยเท่าใด)

Spin

ตามปกติยิ่งออกแรงตีมาก ลูกก็ยิ่งหมุนมาก ถ้าส่งแรงออกไปที่ลูกเฉียดผิวลูกมากขึ้น(หรือห่างจากจุดศูนย์กลางของลูกมากขึ้น) ลูกยิ่งหมุนมากแต่จะมีแรงกระเด้งออกจากไม้น้อยลง จากภาพนี้แรงที่ใช้ไปจะทำให้ลูกปิงปองหมุนมากไปน้อยตามลำดับ A B C แต่ยังขึ้นกับระยะเวลาที่ลูกอยู่บนหน้าไม้ (dwell time) ถ้าลูกสัมผัสหน้ายางได้นานขึ้นจะได้ลูกที่หมุนมากขึ้น ซึ่งจะนานมากน้อยเท่าใดนั้นขึ้นกับคุณภาพของยางที่ใช้

เคยเห็นการดึงผ้าปูโต๊ะออกจากโต๊ะที่วางจานชามไปบนผ้าปูโต๊ะบ้างไหม ถ้าดึงผ้าออกเร็วมากจะไม่ทำให้จานชามถูกดึงติดกับผ้าล้มลงมาตาม แต่ถ้าดึงผ้าปูโต๊ะออกมาช้าๆจะทำให้จามชามล้มตามผ้าออกมาด้วย แสดงให้เห็นว่าถ้าออกแรงมากไปหรือตีเร็วไปก็ไม่ทำให้แรงเสียดทานส่งผลกับลูกปิงปองมากตามที่คิด

นักปิงปองควรฝึกตีลูกหมุนกับกำแพงเพื่อรู้จักคุณสมบัติของยางที่ใช้ว่าต้องลากไม้ผ่านลูกอย่างไร นานเท่าใด จึงทำให้ลูกหมุนได้เร็วมากที่สุด

การคว่ำหน้าไม้แล้วพยายามตีท้อปสปินให้เฉี่ยวที่ผิวลูก ไม่ได้ทำให้ลูกหมุนเร็วที่สุดเสมอไป นักปิงปองหลายคนตีลูกติดเน็ตบ่อยๆก็เพราะเอาแต่คว่ำหน้าไม้นี่เอง การตั้งหน้าไม้แบบตั้งฉากกับพื้นหรือแม้แต่หงายหน้าไม้ก็สามารถสร้างลูกหมุนแบบท้อปสปินมากๆได้เช่นเดียวกับการคว่ำหน้าไม้ เพียงรู้จักการส่งแรงจากไม้ให้ผ่านขอบลูกแทนที่จะส่งแรงผ่านจุดศูนย์กลางของลูก

การออกแรงตีจะได้แรงและหมุนมากๆสมกับที่ออกแรงหรือไม่ ขึ้นกับรัศมีของวงเหวี่ยงและลำดับการใช้อวัยวะในการเหวี่ยงไม้ออกไป ถ้าเหวี่ยงไม้โดยใช้แรงจากการสะบัดข้อมือเพียงอย่างเดียว นอกจากกล้ามเนื้อที่ช่วยในการสะบัดข้อมือเป็นกล้ามเนื้อที่ให้แรงได้น้อยกว่ากล้ามเนื้อแขนแล้ว รัศมีของการสะบัดข้อมือยังน้อยมากอีกด้วย ทำให้ตีลูกออกไปไม่แรงไม่หมุนนักทั้งๆที่ดูเหมือนไม้จะสะบัดจนดูไม่ทันก็ตาม แต่หากจัดลำดับการเหวี่ยงให้ใช้ทั้งแขนโดยเหวี่ยงแขนท่อนบนก่อนแล้วตามด้วยการเหวี่ยงแขนท่อนล่างแล้วจึงร่วมกับการสะบัดข้อมือ จะทำให้รัศมีของวงเหวี่ยงมีระยะยาวมากที่สุด ย่อมทำให้การเหวี่ยงได้ความเร็วสูงสุด (แต่ก่ารสะบัดข้อมือจะส่งผลให้ควบคุมความแม่นยำได้ยากขึ้น)

ตามหลักของ Conservation of Momentum คุณเคยเห็นภาพแสดงคนที่ไม่คาดสายรัดนิรภัยถูกเหวี่ยงพุ่งออกไปจากรถที่ชนกันใช่ไหม นั่นเป็นเพราะมวลของรถมีมากกว่ามวลของตัวคนหลายเท่า แค่ตัวรถวิ่งไปไม่ต้องเร็วแต่ต้องหยุดอย่างเฉียบพลันก็จะถ่ายทอดโมเมนตัมจากรถไปที่ตัวคนให้ถูกโยนผ่านหน้ากระจกรถไปตามทิศทางเดิมของรถที่วิ่ง ดังนั้นเวลานั่งรถจึงต้องคาดสายรัดนิรภัยเสมอแม้ว่ารถจะวิ่งช้าๆก็ตาม ในทำนองเดียวกันเราสามารถสร้างลูกหมุนมากๆโดยฝึกให้โมเมนตัมจากร่างกายซึ่งมีมวลมากจะถ่ายเทไปสู่หน้าไม้ปิงปองและลูกปิงปองที่มีมวลน้อยกว่าได้เต็มที่ ต่อเมื่อในจังหวะก่อนไม้จะกระทบลูก ต้องรู้จักเหวี่ยงท่อนแขนด้านล่างให้เร็วที่สุดเพื่อปล่อยให้ข้อมือสะบัดอย่างรวดเร็วต่อไปเองโดยไม่ต้องออกแรงสะบัดข้อมือแม้แต่น้อย และในจังหวะที่ไม้กระทบลูกให้กำด้ามไม้ให้แน่นซึ่งจะช่วยหยุดวงเหวี่ยงของหน้าไม้เพื่อให้โมเมนตัมส่งต่อไปยังลูกปิงปองได้เต็มที่

 

 

Copyright of www.TableTennisTip.com - www.facebook.com/TableTennisTip/

Go to top