Speed และ Spin มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกัน ถ้าต้องการปั่นลูกให้หมุนมากๆก็ต้องตีเฉียดผิวลูกหรือส่งแรงในทิศทางที่ห่างจากแนวจุดศูนย์กลางของลูกปิงปองให้มากที่สุด แต่ถ้าต้องการตีลูกให้แรงและเร็วก็ต้องกระแทกไม้ไปที่ลูกหรืออีกนัยหนึ่งส่งแรงให้ผ่านแนวจุดศูนย์กลางของลูกปิงปองออกไป (อ่านรายละเอียด)
ข้อผิดพลาดที่พบกันอยู่บ่อยๆก็คือ พอเริ่มตีลูกให้หมุนมากขึ้นก็มักพบว่าแรงส่งลูกกลับลดลงเพราะนักปิงปองมักเปลี่ยนวงสวิงลากไม้ในมุมที่ชันขึ้นหรือปรับมุมหน้าไม้ให้คว่ำน้อยลง พร้อมกันนั้นก็จะตีลูกในจังหวะที่ลูกตกแทนที่จะตีในจังหวะที่ลูกกระดอนขึ้นจากโต๊ะ แล้วยืนห่างโต๊ะมากขึ้นเพราะต้องการเนื้อที่ในการลากวงสวิง
การฝึกน้อคลูกที่ดีไม่ใช่ว่าจะต้องตีโฟร์แฮนด์หรือแบคแฮนด์โต้กันไปโต้กันมาให้ได้นานๆ ไม่ใช่ว่าจะต้องตีให้แรงและเร็วโดยที่ต้องสามารถวางตำแหน่งลูกลงใกล้เส้นสกัดปลายโต๊ะได้อย่างแม่นยำเท่านั้น หากยังต้องฝึกปั่นลูกให้ top spin หมุนมากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย โดยยังคงตีลูกได้แรงและเร็วเหมือนเดิมหรือแรงขึ้นมากกว่าเดิม ทำให้สามารถใช้ผลจากการหมุนแบบ top spin ในการตีลูกลงโต๊ะได้แรงกว่าเดิมเพราะการหมุนแบบ top spin จะมีวิถีของลูกที่กดลงมากกว่าปกติในวิถีของลูกขาลง
เริ่มต้นจากตีไม่แรงนัก ไม่หมุนนัก จนกว่าจะแม่นยำก่อน จากนั้นจึงค่อยๆเพิ่มความแรง ความเร็ว และการหมุนมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่ต้องขยับตัวให้ไกลจากโต๊ะมากขึ้นแต่อย่างใด ฝึกใช้วงสวิงตามแนวนอนให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มแรงปะทะเข้าหาลูกและคว่ำหน้าไม้ตีลูกปิงปองในส่วนที่ใกล้หัวลูกให้มากที่สุดเพื่อปั่นลูกหมุนแบบ top spin
แน่นอนว่าการที่จะตีได้แบบที่ว่านี้ต้องใช้แรงส่งตามลำดับจากขา สะโพก ลำตัว หัวไหล่ แขนท่อนบน แขนท่อนล่าง สู่ข้อมือได้อย่างดีถูกจังหวะ นักปิงปองจึงต้องฝึกท่าตีให้สามารถอัดแรงและปล่อยแรงได้โดยไม่เกร็งและไม่เสียสมดุล ต้องฝึกการขยับตัวขยับเท้าให้เร็ว ไม่ใช่ว่าพอตีแรงขึ้นแล้วกลัวว่าจะตั้งท่าตีลูกต่อไปไม่ทันจึงไม่ปล่อยแรงเหวี่ยงแขนออกไปเต็มที่