คุณเคยได้ยินคำสอนที่ว่า ให้เหวี่ยงไม้ตีลูก forehand พอกระทบลูกแล้วให้วงไม้ที่เหวี่ยงหยุดอยู่แค่ปลายคิ้วขวา เพราะถ้าเหวี่ยงไปไกลเกินกว่านี้จะย้อนกลับมาตีลูกถัดไปไม่ทัน นักปิงปองหน้าใหม่ฟังแล้วก็เลยใช้แต่แขนเหวี่ยงไม้ในการตีลูกปิงปอง พอกลับมาบ้านก็จะปวดเมื่อยแขนไปหมด อย่าว่าแต่นักปิงปองหน้าใหม่เลย แม้แต่คนที่ตีปิงปองมานานสามารถตีได้แรงและแม่นยำแล้วก็ตาม มีน้อยคนนักที่จะตีปิงปองได้แรงโดยออกแรงไม่ต้องมากก็ได้แรงแล้ว ทั้งนี้ต้องรู้จักการไล่ลำดับของการปล่อยแรง (momentum) ให้ถูกต้อง
ถ้าซูโม่ตัวใหญ่ปะทะกับซูโม่ตัวเล็กกว่า ซูโม่ตัวเล็กจะกระเด็นไปไกลเลยใช่ไหม
คุณเคยนั่งรถที่เบรคกะทันหันแล้วตัวคุณเองจะโยกไปข้างหน้าแม้รถจะหยุดแล้วใช่ไหม
คุณเคยใช้ไขควงขันน้อตบ้างไหม ถ้าใช้ไขควงด้ามยาวๆจะไขได้ง่ายกว่าด้ามสั้นใช่ไหม
คุณเคยเห็นนักเสก็ตน้ำแข็งที่หมุนตัวเร็วขึ้นเรื่อยๆเมื่อหดแขนและขาเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นใช่ไหม
คุณเคยเห็นคนที่ใช้แซ่หวดปลายแซ่สะบัดบนอากาศเสียงดังเปรี้ยะบ้างไหม
ถ้าปล่อยให้ข้อมือไม่เกร็งแล้วเหวี่ยงแขน จะเห็นข้อมือสะบัดตามไปเองใช่หรือไม่ หรือยืนหมุนตัวโดยปล่อยแขนตามสบาย จะเห็นแขนเหวี่ยงออกไปเองใช่ไหม
หากต้องการใช้แรงให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดโดยออกแรงน้อยที่สุด ต้องรู้จักการไล่รีดแรงออกมาจากอวัยวะขนาดใหญ่ไปสู่อวัยวะส่วนย่อยที่มีมวลน้อยกว่า สมมติว่ากำลังจะตี forehand และได้อัดแรงทิ้งน้ำหนักไว้ที่ขาขวาและบิดสะโพกและเอวตามเข็มนาฬิกาอัดแรงไว้แล้ว ในการปล่อยแรงให้ไล่รีดแรงตามลำดับต่อไปนี้
- เริ่มต้นการถ่ายน้ำหนักจากขาขวาเพียงเล็กน้อย เมื่อลำตัวขยับจะทำให้สะโพกเริ่มขยับ
- ขยับสะโพกตามโดยหมุนสะโพกทวนเข็มนาฬิกาก่อน จะทำให้ลำตัวบนขยับตามไปเอง
- พอลำตัวบนเริ่มขยับ ให้ออกแรงหมุนลำตัวบน จะทำให้ท่อนแขนส่วนบนเริ่มขยับ
- พอท่อนแขนส่วนบนเริ่มขยับ ให้ออกแรงเหวี่ยงท่อนแขนส่วนบนเล็กน้อย จะทำให้ท่อนแขนส่วนล่างเริ่มขยับตาม
- พอท่อนแขนด้านล่างขยับ ให้เหวี่ยงแขนท่อนล่างโดยใช้ข้อศอกเป็นศูนย์กลาง แขนท่อนล่างจะขยับเร็วมาก
- พอแขนท่อนล่างขยับ หากลดรัศมีของวงเหวี่ยงลงทุกส่วน จะพบว่าแขนเหวี่ยงได้เร็วขึ้นมาก เหมาะสำหรับใช้ปั่นลูกให้หมุนมากๆ แต่ความแรงลูกที่ได้จะลดลง(ภาพนี้เป็นการตีเทนนิสที่มีหลักการเดียวกัน)
- ในจังหวะที่แขนเหวี่ยงเร็วที่สุดนั้น ให้สะบัดข้อมือตามออกไป
- ถ่ายน้ำหนักจากขาขวามาขาซ้ายเต็มที่ ไม้กระทบลูกในจังหวะที่ไม้เหวี่ยงเร็วที่สุด
จะตีลูกได้แรงเต็มที่ต่อเมื่อในจังหวะที่ไม้กระทบลูกนั้น เคลื่อนโถมน้ำหนักตัวจากสะโพกขวาไปซ้ายพร้อมกันไป และเมื่อลำตัวเริ่มหันหน้าเข้าหาโต๊ะให้หยุดการหมุนของลำตัวเพื่อใช้แรงสะบัดจากหัวไหล่และแขน - ทิ้งน้ำหนักแบบหมุนตัวไปตามวงเหวี่ยง อย่าถ่ายน้ำหนักไปไกลจนจุดศูนย์กลางของน้ำหนักตัว (Center of Gravity) เสียสมดุล
- ลำตัวกลับมาสู่สภาพเตรียมพร้อมในการตีลูกต่อไป
แรงรวมจะมากที่สุดต่อเมื่อจัดลำดับการส่งต่อของแรงให้ได้จังหวะที่อวัยวะก่อนหน้านั้นเกิดแรงสูงที่สุด ตามภาพต่อไปนี้
เปรียบเทียบการเหวี่ยงแขนตามวิดีโอต่อไปนี้ นักปิงปองจีนใช้วงสวิงเหวี่ยงแขนกว้างแต่ใช้ข้อมือน้อย ส่วนนักปิงปองฝรั่งร่างกายมีมวลมาก ใช้วงสวิงแคบกว่าเพื่อช่วยให้ขยับตัวได้เร็วและใช้ข้อมือมากกว่า
นอกจากนี้ยังมีแรงจากอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เคยจะคิดใช้กัน นั่นคือการพลิกท่อนแขนจากหงายเป็นคว่ำ และถ้าใช้วงเหวี่ยงแขนให้ไม้ลงจากที่สูงมาต่ำตามแรงดึงดูดของโลก จะมีแรงเสริมเข้ามาอีก
บทความแนะนำ
THE KINETIC CHAIN IN TENNIS : DO YOU PUSH OR PULL?