ครูจันทร์ ชูสัตยานนท์ โค้ชปิงปองทีมชาติยุกแรกๆสอนว่า เวลาเล่นปิงปองต้องรู้จักคำนวณตามไปด้วย ถ้าคู่ต่อสู้ส่งลูกตัดกลับที่หมุนแบบแบ็คสปินมาด้วยความเร็วร้อยรอบ พอเราตั้งใจจะตีแบ็คสปินกลับไปด้วยความเร็วร้อยรอบเช่นกันจะเกิดอะไรขึ้น ... อิทธิพลของลูกที่หมุนมาจะสลายไปกลายเป็นลูกที่ไม่หมุนส่งกลับไป ดังนั้นหากอยากทำให้หมุนแบ็คสปินกลับไปก็ต้องตั้งใจตีให้หมุนกว่าที่ลูกที่ส่งมา แต่ถ้าเคาะหรือตั้งหน้าไม้ยกให้ลูกกระเด้งกลับไปเองจะกลายเป็นลูกหมุนแบบท้อปสปิน

ไม่รู้ว่าโค้ชปิงปองของคุณเคยสอนแบบนี้หรือไม่ เป็นวิธีสอนที่ทำให้นักปิงปองต้องฉลาดใช้สมองคิดอยู่ตลอดเวลา สูตรสำเร็จที่ครูจันทร์ย้ำไว้เสมอก็คือ ต้องเร็วกว่า แรงกว่า หมุนกว่า และที่ไม่ต้องพูดย้ำว่าต้องส่งลูกกลับไปให้แม่นยำด้วย ก็เพราะบนโต๊ะปิงปองที่ใช้ฝึกมีเส้นขาวตีตารางไว้เป็นช่องๆ เวลาซ้อมกันต้องฝึกตีให้ลงช่องที่กำหนดไว้อยู่แล้ว

วิดีโอนี้อธิบายเรื่องการหมุนให้เห็นภาพอย่างชัดเจน พอเสริฟแบบ Pendulum แบบ sidespin ออกไป ผู้รับเสริฟสามารถตีแบ็คสปินหรือท้อปสปินกลับไปก็ได้ โดยตีที่หัวลูกตรงจุดศูนย์กลางของการหมุนซึ่งช่วยลดอิทธิพลของลูกที่หมุนมา (ในวิดีโอไม่ได้อธิบายไว้ แต่ดูจากภาพจะเห็นได้ชัด)

แต่ถ้าผู้รับออกแรงตีน้อยกว่าหรือตั้งหน้าไม้รับให้ลูกกระเด้งกลับมา ลูกปิงปองจะหมุนกลับด้าน จากที่หมุนซ้ายไป จะกลายเป็นหมุนขวากลับมา ซึ่งตัวผู้เสริฟต้องตั้งหน้าไม้รับไม้ 3 ให้ดีด้วย โดยตั้งหน้าไม้ส่งลูกกลับไปทางด้ายซ้ายมือของคู่ต่อสู้ไว้ก่อน เพราะถ้าตั้งหน้าไม้บุกไม้ 3 ไว้ตรงๆจะเห็นว่าลูกกระเด้งออกไปทางขวามือของคู่ต่อสู้ หรือไม่ก็กระเด้งออกไม่ลงโต๊ะไปเฉยเลย ทั้งนี้ต้องเข้าใจด้วยว่าสมมติว่าเล่นยางเรียบด้วยกันทั้งคู่

คลิกที่รูปหรือลิงก์เพื่อดูวิดีโอ 

spinReceivehttps://youtu.be/uLA3skhF8rc

Spin3Ballhttps://youtu.be/IEdE426E1D0

Spin3BallAttackhttps://youtu.be/zYOwkAb302k

  

 

ลูกท้อปสปินมีวิถีของลูกโค้งที่ลอยขึ้นตามแรงที่ถูกตีแล้วถูกแรงดันอากาศกดลงเร็วกว่าปกติ ช่วยทำให้สามารถชิงบุกก่อนในการตีโต้ลูกเสริฟหรือลูกที่กระเด้งแล้วมีระยะความสูงต่ำกว่าเน็ตกลับไปลงโต๊ะอีกฝั่ง และหากสามารถตีลูกท้อปสปินให้ลูกหมุนมากๆและมีความเร็วมากพร้อมกันไปด้วยจะสร้างความลำบากในการโต้กลับให้กับคู่ต่อสู้เป็นอย่างยิ่ง ลูกอาจเด้งออกนอกโต๊ะถ้าตั้งหน้าไม้ไม่ดีหรือกระแทกไม้กลับแรงเกินไป

curveball

การที่ลูกท้อปสปินที่ตีลอยกลับไปมีวิถีโค้ง ย่อมใช้เวลาลอยบนอากาศนานกว่าปกติ ทำให้ช่วยเปิดเวลาตั้งรับให้กับทั้งสองฝ่าย จึงมักใช้กับการตีลูกระยะไกล แม้มีวิถีโค้งมากและลูกลอยสูงจากเน็ตมาก แต่จะถูกแรงกดอากาศช่วยเพิ่มความเร็วในช่วงลงและเมื่อลูกกระทบกับโต๊ะก็จะถูกแรงของการหมุนผลักลูกที่กระเด้งขึ้นให้มีมุมที่ต่ำกว่ามุมที่วิ่งลงกระทบโต๊ะ กลายเป็นลูกเลียดยากต่อการตั้งรับในระยะสั้นบนโต๊ะ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่คู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายเมื่อเริ่มตีลูกท้อปสปินจากระยะไกลโต๊ะแล้วแทบไม่ก้าวเท้าเข้ามาตีลูกระยะสั้นบนโต๊ะกันอีกเลย

topSpinAngle

topSpinFlight

ภาพแสดงระยะทางที่สั้นลงเมื่อลูกปิงปองหมุนแบบท้อปสปินในความเร็วมากขึ้น(รอบต่อวินาที)

 

แม้ลูกท้อปสปินจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ตีลูกได้แรงขึ้นและยังลงโต๊ะได้มากขึ้นเพียงกะให้ตีลูกลงบริเวณกลางโต๊ะฝั่งตรงข้ามไว้ก่อน อย่างไรก็ตามมิใช่ว่าลูกท้อปสปินจะเหมาะเสมอไป เมื่อตีลูกหมุนให้มากย่อมลดความแม่นยำทั้งทิศทางและระยะทางของลูกปิงปองที่ตีข้ามไป ถ้าความหมุนและความเร็วของลูกท้อปสปินมีไม่มาก จะกลายเป็นลูกที่โต้กลับได้ง่ายมาก ขอเพียงตั้งหน้าไม้ให้ถูกต้องและรู้จักผ่อนแรงที่ลูกกระทบไม้ให้แรงกระดอนกลับน้อยลง ดังนั้นสำหรับลูกสั้นที่ตีกันบนโต๊ะหรือแม้แต่ลูกยาวไกลโต๊ะที่มีระยะความสูงของลูกไม่ต่ำกว่าเน็ต การตบลูกแรงที่มีความเร็วสูงให้เป็นลูกวิถีตรงจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะกว่าท้อปสปินเสียด้วยซ้ำเพราะไม่เปิดโอกาสให้คู่ต่อสู้มีเวลาตั้งรับ

curveOrStraight

topBackSpin

ลักษณะการหมุนของลูกปิงปอง (ตามทิศทางการวิ่งของลูก)

  • ท้อปสปิน ด้านบนของลูกหมุนไปด้านหน้า
  • แบ็คสปิน ด้านล่างของลูกหมุนไปด้านหน้า

ช่วงขาขึ้นเทียบกับขาลงของวิถีของลูกปิงปอง

  • ท้อปสปิน ช่วงขาขึ้นยาวกว่าขาลง ลูกขาลงจะลงเร็วขึ้น
  • แบ็คสปิน ช่วงขาลงยาวกว่าขาขึ้นหรือระยะทางพอกัน ลูกขาลงจะลงช้า

มุมที่ลูกปิงปองกระเด้งเมื่อกระทบโต๊ะ

  • ท้อปสปิน มุมที่ลูกกระเด้งขึ้นทำมุมลดลง แรงมากขึ้น และกระเด้งสูงกว่า
  • แบ็คสปิน มุมที่ลูกกระเด้งขึ้นทำมุมมากขึ้น แรงน้อยลง และกระเด้งสูงน้อยกว่า

ผลเมื่อลูกปิงปองกระทบไม้ปิงปอง (สมมติว่าตั้งไม้ทำมุมฉากกับโต๊ะและใช้ยางแผ่นเรียบธรรมดา)

  • ท้อปสปิน ลูกกระเด้งขึ้นจากไม้และกลายเป็นลูกท้อปสปินกลับไป
  • แบ็คสปิน ลูกกระเด้งลงจากไม้และกลายเป็นลูกแบคสปินกลับไป

ลูกโค้งเกิดจากการหมุนด้านข้าง (side spin) เมื่อลูกหมุนผ่านอากาศจะเกิดความดันของอากาศเพิ่มขึ้นในด้านที่ทิศของการหมุนสวนกับทิศทางของอากาศที่ไหลผ่าน ทำให้เกิดแรงผลักทิศทางของลูกให้โค้ง ยิ่งลูกหมุนมากขึ้นเท่าใด วิถีของลูกก็จะโค้งมากขึ้นเท่านั้น

sideSpin

เมื่อลูกกระทบโต๊ะจะถูกแรงเสียดทานจากผิวโต๊ะผลักให้ทิศทางของการหมุนเคลื่อนลงไปด้านหน้าเล็กน้อยทำให้ลูกที่หมุนข้างกลายเป็นลูกหมุนท้อปสปินผสมเล็กน้อย ทำให้แนวการกระเด้งขึ้นของลูกเลี้ยวออกจากทิศทางเดิมทำให้ยากที่คู่ต่อสู้จะตั้งรับ เพราะลูกจะเลี้ยวหนีจากตัวคู่ต่อสู้และเมื่อลูกโดนไม้ก็จะกระเด้งออกด้านข้าง ดังนั้นผู้รับต้องเคลื่อนตัวเข้าหาลูกให้ดีและตั้งหน้าไม้รับให้ถูกต้องด้วย

เคยได้ยินมาบ่อยๆว่าเวลาตีลูกท้อปสปินต้องตั้งมุมหน้าไม้ 45 องศาบ้างแล้วให้เหวี่ยงไม้ปาดลูกให้เร็วที่สุดก็จะได้ลูกท้อปสปินที่หมุนเร็วที่สุด บ้างแนะนำให้ตั้งหน้าไม้ตั้งฉากกับพื้นแล้วเหวี่ยงไม้ขึ้นไปตรงๆ เมื่อได้ฟังคำแนะนำแบบนี้เคยสงสัยไหมว่า จังหวะที่ไม้กระทบลูกควรเป็นจังหวะไหน จะโดนลูกตอนเริ่มกระเด้งขึ้น หรือตอนกระเด้งสูงสุด หรือตอนลูกลอยลงมา แล้วที่แนะนำมานั้นจะใช้กับการตีโต้ลูกที่วิ่งมาเลียดเน็ตหรือใช้กับลูกโค้งหรือใช้ตีโต้กับลูกท้อปสปินหรือแบคสปิน ซึ่งคงไม่มีคำตอบเดียวที่สามารถใช้ตอบโต้ลูกที่คู่ต่อสู้ตีมาสารพัดแบบได้หรอกใช่ไหม

ความแรงกับความหมุนเป็นสิ่งที่เกิดตรงข้ามกัน ถ้าอยากให้ลูกปิงปองวิ่งออกจากไม้ไปได้แรงที่สุดก็ต้องใช้แรงไปกับการตีให้แรงที่สุดโดยไม่ต้องทำให้ลูกหมุน แต่ถ้าอยากให้ได้ลูกหมุนมากขึ้นก็ต้องสูญเสียความแรงชดเชยกันไป

SpeedSpin

ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า มุมหน้าไม้ที่แน่นอนตายตัวซึ่งสามารถใช้กับการตีโต้ลูกทุกประเภทได้นั้นไม่มีหรอก นักปิงปองต้องรู้จักปรับมุมหน้าไม้ให้เหมาะกับการตีโต้ลูกแต่ละประเภทและยังต้องปรับมุมเหวี่ยงแขนให้เข้ากับหน้าไม้อีกด้วย นอกจากนี้ยางแปะไม้ปิงปองยังมี throw angle แตกต่างกันมีผลต่อมุมหน้าไม้และวงเหวี่ยง

นักปิงปองควรเข้าใจที่ไปที่มาของความแรงและความหมุนให้ดีว่า ทิศทางของแรงที่ส่งออกมาจากหน้าไม้เป็นสิ่งที่เป็นผลต่อความแรงและความหมุน

ถ้าออกแรงตีจากตัวไม้ไปที่ลูกปิงปองให้แรงผ่านจุดศูนย์กลางของลูก จะได้ลูกที่แรงที่สุดแต่ไม่หมุน
ถ้าส่งแรงผ่านเหนือจุดศูนย์กลางขึ้นไป (ไม่ว่าจะตั้งหน้าไม้ไว้แบบใด) จะทำให้เกิดการหมุนแบบท้อปสปิน
ถ้าส่งแรงผ่านใต้จุดศูนย์กลางลงมา (ไม่ว่าจะตั้งหน้าไม้ไว้แบบใด) จะทำให้เกิดการหมุนแบบแบคสปิน

ยิ่งแรงที่ส่งออกมาจากไม้ทำมุมห่างจากจุดศูนย์กลางของลูกปิงปองมากขึ้นจนทิศทางของการเหวี่ยงหน้าไม้ตั้งฉากกับจุดศูนย์กลางของลูก จะเกิดความหมุนมากขึ้นแต่แรงลดลง

ทิศทางที่ลูกจะวิ่งออกจากไม้ปิงปอง ยังขึ้นกับมุมของหน้าไม้ ทิศทางของแรงที่ลูกกระเด้งขึ้นมากระทบไม้ ประเภทของการหมุน และระดับความแรงของการหมุนของลูกที่ลอยมา แต่ถ้าออกแรงจากตัวไม้ให้มากไว้จนเป็นแรงหลักจะสามารถควบคุมให้ส่งลูกออกไปตามทิศทางของแรงจากตัวไม้ได้เสมอ

แรงที่ได้จะสูงสุดหากสามารถเลี้ยงลูกให้อยู่บนไม้ในช่วงจังหวะเวลาที่ลูกกับยางปิงปองกระทบกัน (dwell time) ให้นานสักนิด เพื่อให้ได้แรงกระเด้งออกจากตัวเนื้อไม้บวกกับแรงกระเด้งออกจากตัวแผ่นยางเสริมกันไป

หากต้องการให้ได้ลูกหมุนมากๆต้องเหวี่ยงไม้ให้ไม่เร็วไปหรือช้าไป ถ้าเหวี่ยงไม้เร็วไปจนลูกปิงปองไม่มีช่วงเวลาได้สัมผัสหน้ายางได้เต็มที่ก็จะไม่ได้ลูกหมุนมากนัก นักปิงปองจึงควรฝึกเดาะไม้ตัดลูกปิงปองจนกว่าจะคุ้นเคยกับการกระเด้งของยางและตัวไม้เพื่อสร้างความหมุนให้เกิดขึ้นได้มากที่สุด

 

Speed และ Spin มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกัน ถ้าต้องการปั่นลูกให้หมุนมากๆก็ต้องตีเฉียดผิวลูกหรือส่งแรงในทิศทางที่ห่างจากแนวจุดศูนย์กลางของลูกปิงปองให้มากที่สุด แต่ถ้าต้องการตีลูกให้แรงและเร็วก็ต้องกระแทกไม้ไปที่ลูกหรืออีกนัยหนึ่งส่งแรงให้ผ่านแนวจุดศูนย์กลางของลูกปิงปองออกไป (อ่านรายละเอียด)

ข้อผิดพลาดที่พบกันอยู่บ่อยๆก็คือ พอเริ่มตีลูกให้หมุนมากขึ้นก็มักพบว่าแรงส่งลูกกลับลดลงเพราะนักปิงปองมักเปลี่ยนวงสวิงลากไม้ในมุมที่ชันขึ้นหรือปรับมุมหน้าไม้ให้คว่ำน้อยลง พร้อมกันนั้นก็จะตีลูกในจังหวะที่ลูกตกแทนที่จะตีในจังหวะที่ลูกกระดอนขึ้นจากโต๊ะ แล้วยืนห่างโต๊ะมากขึ้นเพราะต้องการเนื้อที่ในการลากวงสวิง

การฝึกน้อคลูกที่ดีไม่ใช่ว่าจะต้องตีโฟร์แฮนด์หรือแบคแฮนด์โต้กันไปโต้กันมาให้ได้นานๆ ไม่ใช่ว่าจะต้องตีให้แรงและเร็วโดยที่ต้องสามารถวางตำแหน่งลูกลงใกล้เส้นสกัดปลายโต๊ะได้อย่างแม่นยำเท่านั้น หากยังต้องฝึกปั่นลูกให้ top spin หมุนมากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย โดยยังคงตีลูกได้แรงและเร็วเหมือนเดิมหรือแรงขึ้นมากกว่าเดิม ทำให้สามารถใช้ผลจากการหมุนแบบ top spin ในการตีลูกลงโต๊ะได้แรงกว่าเดิมเพราะการหมุนแบบ top spin จะมีวิถีของลูกที่กดลงมากกว่าปกติในวิถีของลูกขาลง

เริ่มต้นจากตีไม่แรงนัก ไม่หมุนนัก จนกว่าจะแม่นยำก่อน จากนั้นจึงค่อยๆเพิ่มความแรง ความเร็ว และการหมุนมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่ต้องขยับตัวให้ไกลจากโต๊ะมากขึ้นแต่อย่างใด ฝึกใช้วงสวิงตามแนวนอนให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มแรงปะทะเข้าหาลูกและคว่ำหน้าไม้ตีลูกปิงปองในส่วนที่ใกล้หัวลูกให้มากที่สุดเพื่อปั่นลูกหมุนแบบ top spin

 

 

แน่นอนว่าการที่จะตีได้แบบที่ว่านี้ต้องใช้แรงส่งตามลำดับจากขา สะโพก ลำตัว หัวไหล่ แขนท่อนบน แขนท่อนล่าง สู่ข้อมือได้อย่างดีถูกจังหวะ นักปิงปองจึงต้องฝึกท่าตีให้สามารถอัดแรงและปล่อยแรงได้โดยไม่เกร็งและไม่เสียสมดุล ต้องฝึกการขยับตัวขยับเท้าให้เร็ว ไม่ใช่ว่าพอตีแรงขึ้นแล้วกลัวว่าจะตั้งท่าตีลูกต่อไปไม่ทันจึงไม่ปล่อยแรงเหวี่ยงแขนออกไปเต็มที่

 

 

 

ความหมุนของลูกปิงปองเป็นสิ่งสำคัญในการตีปิงปองยุคใหม่ โดยเฉพาะการเสริฟที่ใช้การหมุนลูกหลากหลายแบบในการหลอกคู่ต่อสู้ หรือใช้การหมุนของลูกในการตีแบบ top spin ซึ่งจะเกิดแรงกดของอากาศจากด้านบนลงมาบนลูกทำให้มีวิถีของลูกในช่วงขาลงที่สั้นกว่าปกติ ทำให้สามารถตีลูกแรงมากออกไปแล้วยังลงโต๊ะ ช่วยในการควบคุมทิศทางและระยะของลูกได้แน่นอนกว่าลูกไม่หมุน

ลูกจะหมุนมากหรือน้อยขึ้นกับองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่

  1. แรงที่ใช้ตีลูก
  2. ทิศทางของแรงที่ส่งจากไม้ไปยังลูกปิงปอง
  3. ระยะเวลาที่ลูกสัมผัสหน้ายางต้องพอดี

(สังเกตให้ดีว่า ไม่ได้ขึ้นกับมุมหน้าไม้ว่าต้องคว่ำหรือหงายมากน้อยเท่าใด)

Spin

ตามปกติยิ่งออกแรงตีมาก ลูกก็ยิ่งหมุนมาก ถ้าส่งแรงออกไปที่ลูกเฉียดผิวลูกมากขึ้น(หรือห่างจากจุดศูนย์กลางของลูกมากขึ้น) ลูกยิ่งหมุนมากแต่จะมีแรงกระเด้งออกจากไม้น้อยลง จากภาพนี้แรงที่ใช้ไปจะทำให้ลูกปิงปองหมุนมากไปน้อยตามลำดับ A B C แต่ยังขึ้นกับระยะเวลาที่ลูกอยู่บนหน้าไม้ (dwell time) ถ้าลูกสัมผัสหน้ายางได้นานขึ้นจะได้ลูกที่หมุนมากขึ้น ซึ่งจะนานมากน้อยเท่าใดนั้นขึ้นกับคุณภาพของยางที่ใช้

เคยเห็นการดึงผ้าปูโต๊ะออกจากโต๊ะที่วางจานชามไปบนผ้าปูโต๊ะบ้างไหม ถ้าดึงผ้าออกเร็วมากจะไม่ทำให้จานชามถูกดึงติดกับผ้าล้มลงมาตาม แต่ถ้าดึงผ้าปูโต๊ะออกมาช้าๆจะทำให้จามชามล้มตามผ้าออกมาด้วย แสดงให้เห็นว่าถ้าออกแรงมากไปหรือตีเร็วไปก็ไม่ทำให้แรงเสียดทานส่งผลกับลูกปิงปองมากตามที่คิด

นักปิงปองควรฝึกตีลูกหมุนกับกำแพงเพื่อรู้จักคุณสมบัติของยางที่ใช้ว่าต้องลากไม้ผ่านลูกอย่างไร นานเท่าใด จึงทำให้ลูกหมุนได้เร็วมากที่สุด

การคว่ำหน้าไม้แล้วพยายามตีท้อปสปินให้เฉี่ยวที่ผิวลูก ไม่ได้ทำให้ลูกหมุนเร็วที่สุดเสมอไป นักปิงปองหลายคนตีลูกติดเน็ตบ่อยๆก็เพราะเอาแต่คว่ำหน้าไม้นี่เอง การตั้งหน้าไม้แบบตั้งฉากกับพื้นหรือแม้แต่หงายหน้าไม้ก็สามารถสร้างลูกหมุนแบบท้อปสปินมากๆได้เช่นเดียวกับการคว่ำหน้าไม้ เพียงรู้จักการส่งแรงจากไม้ให้ผ่านขอบลูกแทนที่จะส่งแรงผ่านจุดศูนย์กลางของลูก

การออกแรงตีจะได้แรงและหมุนมากๆสมกับที่ออกแรงหรือไม่ ขึ้นกับรัศมีของวงเหวี่ยงและลำดับการใช้อวัยวะในการเหวี่ยงไม้ออกไป ถ้าเหวี่ยงไม้โดยใช้แรงจากการสะบัดข้อมือเพียงอย่างเดียว นอกจากกล้ามเนื้อที่ช่วยในการสะบัดข้อมือเป็นกล้ามเนื้อที่ให้แรงได้น้อยกว่ากล้ามเนื้อแขนแล้ว รัศมีของการสะบัดข้อมือยังน้อยมากอีกด้วย ทำให้ตีลูกออกไปไม่แรงไม่หมุนนักทั้งๆที่ดูเหมือนไม้จะสะบัดจนดูไม่ทันก็ตาม แต่หากจัดลำดับการเหวี่ยงให้ใช้ทั้งแขนโดยเหวี่ยงแขนท่อนบนก่อนแล้วตามด้วยการเหวี่ยงแขนท่อนล่างแล้วจึงร่วมกับการสะบัดข้อมือ จะทำให้รัศมีของวงเหวี่ยงมีระยะยาวมากที่สุด ย่อมทำให้การเหวี่ยงได้ความเร็วสูงสุด (แต่ก่ารสะบัดข้อมือจะส่งผลให้ควบคุมความแม่นยำได้ยากขึ้น)

ตามหลักของ Conservation of Momentum คุณเคยเห็นภาพแสดงคนที่ไม่คาดสายรัดนิรภัยถูกเหวี่ยงพุ่งออกไปจากรถที่ชนกันใช่ไหม นั่นเป็นเพราะมวลของรถมีมากกว่ามวลของตัวคนหลายเท่า แค่ตัวรถวิ่งไปไม่ต้องเร็วแต่ต้องหยุดอย่างเฉียบพลันก็จะถ่ายทอดโมเมนตัมจากรถไปที่ตัวคนให้ถูกโยนผ่านหน้ากระจกรถไปตามทิศทางเดิมของรถที่วิ่ง ดังนั้นเวลานั่งรถจึงต้องคาดสายรัดนิรภัยเสมอแม้ว่ารถจะวิ่งช้าๆก็ตาม ในทำนองเดียวกันเราสามารถสร้างลูกหมุนมากๆโดยฝึกให้โมเมนตัมจากร่างกายซึ่งมีมวลมากจะถ่ายเทไปสู่หน้าไม้ปิงปองและลูกปิงปองที่มีมวลน้อยกว่าได้เต็มที่ ต่อเมื่อในจังหวะก่อนไม้จะกระทบลูก ต้องรู้จักเหวี่ยงท่อนแขนด้านล่างให้เร็วที่สุดเพื่อปล่อยให้ข้อมือสะบัดอย่างรวดเร็วต่อไปเองโดยไม่ต้องออกแรงสะบัดข้อมือแม้แต่น้อย และในจังหวะที่ไม้กระทบลูกให้กำด้ามไม้ให้แน่นซึ่งจะช่วยหยุดวงเหวี่ยงของหน้าไม้เพื่อให้โมเมนตัมส่งต่อไปยังลูกปิงปองได้เต็มที่

 

 

สมัยแรกๆที่ยางแปลกๆจากจีนเริ่มนำมาใช้กันในเมืองไทย ยังจำได้ว่าครั้งหนึ่งผมเจอกับคู่แข่งเป็นทีมชาติใช้ยางสีดำ(ซึ่งเมื่อก่อนมีแต่ยางสีแดงใช้กันเท่านั้น) เสริฟลูก backspin ที่หมุนหนักมากๆข้ามเน็ตมา ไม่ว่าจะปรับมุมหน้าไม้อย่างไรก็รับลูกเสริฟติดเน็ตแทบทุกลูก ส่วนลูกที่พอจะรับข้ามเน็ตกลับไปได้บ้างก็ถูกตบไม้สามกลับมาเพราะลูกที่ผมหงายหน้าไม้รับกลับไปกลายเป็นหมุนแบบ topspin ที่ง่ายต่อการตบกลับ ไม่เคยคิดว่ายางปิงปองจะสามารถสร้างลูกที่หมุนจัดได้ขนาดนั้นมาก่อน เจ้ายางปิงปองที่ว่านี้แค่วางไม้บนหัวลูกก็จะดึงลูกปิงปองติดยางตามขึ้นมา

ด้วยคุณสมบัติของยางปิงปองยุคนี้ที่มีทั้งการกระเด้งและความหมุนพร้อมอยู่ในตัว ช่วยทำให้ตบได้แรงมากขึ้น พร้อมกับสามารถปั่นลูกปิงปองให้หมุนมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกกระเด้งสูงมากกว่าระดับเน็ตก่อนจึงจะตบได้ และไม่ต้องกลัวว่าถ้าตีลูกต่ำกว่าระดับโต๊ะจะตีบุกกลับไปแรงเกินไปก็ไม่ได้เพราะลูกจะออก หากใช้ลูก loop จะช่วยทำให้ตีลูกแรงมากๆจากระดับความสูงใดก็ได้ ตั้งมุมหน้าไม้ออกแรงให้เฉียดผิวลูกปิงปองปั้นให้หมุนแบบ topspin มากๆ ส่งลูกวิถีโค้งย้อยกลับไป ด้วยความหมุนแบบ topspin จะเกิดแรงกดอากาศด้านบนของลูกกดลูกปิงปองให้วิ่งลงเร็วขึ้นและมีระยะทางที่สั้นลงโต๊ะได้เสมอแม้ว่าจะออกแรงตีมากก็ตาม

Loop มีความหมายต่างจาก Smash/Drive ตรงที่ loop มีความหมุนมากกว่าความแรง ถ้าหมุนมากแต่แรงน้อยก็เป็นลูก Slow-loop ถ้าแรงมากขึ้นก็กลายเป็น Loop-drive แต่ถ้าหมุนมากและแรงมากพร้อมกันไปด้วยกลายเป็น Loop-kill

ทั้งๆที่ใช้ยางปิงปองที่มีคุณสมบัติในการกระเด้งและหมุนมาก แต่หลายคนยังไม่เคยได้ใช้คุณสมบัตินี้ให้เต็มที่เสียที มักเห็นแต่ปั่นลูกให้หมุนแบบ topspin แต่ไม่มีแรงสักเท่าใด ที่ว่าตีแรงแล้วก็ยังแรงน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับความแรงที่แชมป์ปิงปองเขาใช้กัน

 

 

ลูก loop-kill มีทั้งความแรงและความหมุน ถ้าตีลูกเลียด คู่ต่อสู้จะตั้งหน้าไม้หาจังหวะบล้อคกลับได้ยากมากเพราะลูกจะกระเด้งเร็วและกดลงต่ำกว่าเน็ตเร็วมาก ถ้าตั้งหน้าไม้เปิดไปลูกก็จะกระเด้งออกหรือโด่งกลับมา จะรับใกล้โต๊ะก็แรงไป

คุณเคยทดลองใช้ยางปิงปองของคุณให้เต็มที่แล้วหรือยัง

ในช่วงเสี้ยววินาทีที่ไม้ปิงปองกับลูกปิงปองกระทบกัน ลูกปิงปองจะกระเด้งออกไปทางไหนขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่อไปนี้

  1. ทิศทางที่ลูกปิงปองวิ่งมา
  2. ลักษณะการหมุนของลูกปิงปอง
  3. มุมของหน้าไม้ที่ตั้งรับ
  4. ทิศทางที่ออกแรงตีลูกกลับไป

ถ้าลูกที่คู่ต่อสู้ตีมาไม่หมุน และคุณไม่ได้ออกแรงตี เพียงแต่ตั้งหน้าไม้หันไปทางใด ลูกปิงปองก็จะกระเด้งกลับออกไปทางนั้น แต่ถ้าเป็นลูกที่หมุนมาแล้วคุณใช้ยางปิงปองดีๆที่ทำลูกหมุนได้เยี่ยมประเภท Tenergy ล่ะก้อ ยางปิงปองที่หมุนดีจะเป็นดาบสองคม แค่ออกแรงผิดทิศทางนิดเดียว ต่อให้ตั้งหน้าไม้ไว้ดีแล้วก็ตาม ลูกปิงปองจะกระเด้งออกไปติดเน็ตหรือลอยข้ามไปไม่ลงโต๊ะได้ง่ายมาก โดยเฉพาะนักปิงปองมือใหม่ที่ไม่ฝึกเหวี่ยงไม้เข้าหาลูก คอยแต่จะรอให้ลูกปิงปองวิ่งเข้าหาไม้ก่อนแล้วจึงออกแรงตีกลับไป นั่นเป็นเพราะปล่อยให้การหมุนของลูกปิงปองที่ลอยมาส่งผลได้เต็มที่บนหน้าไม้นั่นเอง

 

spinVSspin 

เพื่อพิสูจน์ให้เข้าใจ ทดลองใช้ไม้ปิงปองปั่นลูกแบบ backspin ให้ลูกปิงปองลอยขึ้นไปตรงๆแล้วปล่อยให้ลูกตกลงมาตรงๆ ถ้าตั้งหน้าไม้รับอยู่กับที่จะพบว่าลูกปิงปองกระเด้งออกไปทางขวา แต่ถ้าเคลื่อนไม้ออกแรงไปทางซ้ายเพื่อปั่นลูก backspin หมุนแรงเท่าเดิมต่อไป ลูกปิงปองจะกระเด้งกลับขึ้นไปตรงๆ

การทดลองง่ายๆนี้แสดงให้เห็นว่า การเคลื่อนไม้เพื่อปั่นให้ลูกปิงปองหมุนกลับไปด้วยการหมุนในทิศทางแบบเดิมที่ลอยมาจะลดอิทธิพลจากการหมุนของลูกปิงปองที่ลอยมา แต่ถ้าเคลื่อนไม้ไปอีกทิศหนึ่งเพื่อสร้างการหมุนสวนทางกับการหมุนที่ลอยมาแม้ออกแรงเพียงเล็กน้อยหรือตั้งหน้าไม้อยู่กับที่ ก็ต้องรับผลจากการหมุนของลูกปิงปองที่ลอยมาอย่างเต็มที่ ยากจะควบคุมลูกปิงปองให้กระเด้งกลับไปในทิศทางที่ต้องการ

ครูจันทร์ ชูสัตยานนท์สอนให้ตีแรงกว่า เร็วกว่า หมุนกว่า และแม่นยำด้วย ถ้าคู่ต่อสู้ตีลูก topspin มาก็ต้องตีลูก topspin ที่แรงกว่าและหมุนกว่ากลับไป เพราะการออกแรงตีมากๆไปทางใดย่อมเอาชนะแรงของลูกที่ลอยมาได้เสมอ ถ้าอยากจะบล้อคลูกกลับไป ให้ตั้งหน้าไม้คว่ำไว้มากๆรอให้ลูกกระเด้งกลับไปเองก็พอ แต่ถ้าไม่สามารถออกแรงได้เต็มที่อย่าพยายามออกแรงปั่นลูกแบบ topspin กลับไปอย่างเด็ดขาด เพราะการออกแรงที่ด้อยกว่าและยิ่งการ topspin สวนกลับลูกที่ topspin มา เท่ากับเป็นการสร้างการหมุนสวนทางสู้กับแรงหมุนของลูกโดยตรง ทำให้การหมุนของลูกที่ลอยมาส่งผลเต็มที่ ถ้าตั้งหน้าไม้ไม่ดีก็ยากจะบล้อคลูกให้ลงโต๊ะ

 

TSvsTS

 

ส่วนการโต้กลับลูกที่ลอยมาแบบ backspin ด้วยการตี topspin หรือ loop กลับไป ก่อนที่ลูกจะกระทบไม้ ต้องออกแรงปั่นลูก topspin กลับไปให้หมุนพอๆกับลูกที่หมุนมา เพื่อทำลายอิทธิพลของลูก backspin ที่จะมีต่อไม้ของผู้รับ ทำให้ทิศทางการหมุนของลูกปิงปองที่ลอยมาและลอยกลับไปไม่ได้เปลี่ยนทิศทางการหมุนแม้แต่น้อย

 

TSvsBS

 

แต่ถ้าเอาแต่รอให้ลูก backspin ลอยมากระทบไม้ก่อนแล้วค่อยออกแรงกลับไป ถ้าคว่ำหน้าไม้ตีหรือหงายหน้าไม้น้อยไปจะพบว่าลูกกระเด้งติดเน็ตเพราะโดนอิทธิพลของลูก backspin เต็มที่นั่นเอง

ปิงปองเป็นกีฬาที่ดูว่าเล่นง่ายแต่พอลงสนามเข้าจริงๆจะพบว่ายากกว่าที่นึกไว้เพราะการที่ลูกปิงปองมีน้ำหนักเบาและยังคงมีรอยตะเข็บภายใน ทำให้นักปิงปองสามารถพลิกแพลงการหมุนของลูกปิงปองได้หลายทิศทาง จะหมุนมาก หมุนน้อย หรือไม่หมุนก็ได้ ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากการหมุนได้ดีก็ต่อเมื่อรู้จักปรับความเร็วและวิถีการลอยตัวของลูกปิงปองให้เหมาะสมด้วย

เมื่อลูกปิงปองหมุนลอยผ่านอากาศ ผนังของลูกด้านที่กำลังหมุนไปในทิศทางเดียวกับทิศทางที่ลูกลอยไปจะเสียดสีกับมวลของอากาศทำให้มีความดันอากาศมากกว่าผนังฝั่งตรงกันข้าม (magnus effect) ทำให้มีแรงผลักไปยังอีกผนังข้างหนึ่ง ส่งผลให้ลูกปิงปองที่ลอยไปเลี้ยวเบี่ยงเบนออกจากทิศทางปกติของลูกที่ไม่หมุน

 

magnusTopSpin

 

 

หากต้องการเพิ่มอิทธิพลที่เกิดจากการหมุนทำให้ลูกปิงปองมีวิถีที่ลอยไปเบี่ยงเบนมากขึ้น ต้องตีลูกออกไปให้ช้าที่สุดและมีวิถีที่ลอยไปโค้งมากที่สุด เมื่อลูกปิงปองมีระยะเวลาที่ลอยตัวในอากาศนานขึ้นย่อมมีโอกาศให้การหมุนแสดงผลออกมาให้เห็นชัดขึ้น ในช่วงแรกของวิถีที่ลูกลอยไปจะเป็นเส้นตรงจากนั้นจะเริ่มยิ่งโค้งมากขึ้นเมื่อลูกยิ่งลอยช้าลง

magnusEquation

 

ถ้าสังเกตการตีปิงปองของแชมป์จะพบว่าเขาไม่ได้ตีลูกแรงทุกลูกและไม่ได้ตีลูกเลียดเน็ตเสมอไป ซึ่งนอกจากช่วยทำให้เพิ่มอิทธิพลจากการหมุนมากขึ้นแล้วยังลดความเสี่ยงที่จะตีติดเน็ตหรือตีผิดพลาด เพียงแต่ต้องส่งลูกปิงปองไปลงที่เส้นขอบปลายโต๊ะฝั่งตรงข้ามให้ได้ คู่ต่อสู้จะได้มีมุมให้บุกแคบลงและต้องถอยห่างจากโต๊ะมากขึ้นเพราะลูกประชิดตัวตีได้ลำบาก

 

 

คนที่ชอบตีลูกโค้ง ลองลดความแรงที่ตีลง เปลี่ยนไปใช้แรงกับการทำให้หมุนมากขึ้นแล้วส่งลูกโค้งย้อยๆไปลงโต๊ะจุดที่ไกลที่สุด ปิงปองจะเป็นกีฬาที่มีความมหัศจรรย์ขึ้นอีกมากทีเดียว

 

 

ส่วนตะเข็บข้างในของลูกปิงปองทำให้ลูกปิงปองมีน้ำหนักไม่เสมอกัน จะส่งผลทำให้ลูกที่ลอยไปส่ายไปส่ายมาได้เมื่อลูกไม่หมุน

รายละเอียดเพิ่มเติม

วิธีบล้อคลูกที่คู่ต่อสู้ topspin มามีอยู่ 2 จังหวะ 3 แบบ คือ ตีลูกในจังหวะที่ลูกกำลังกระเด้งขึ้นถึงจุดสูงสุด กับตีลูกในจังหวะที่ลูกลอยลง ถ้าตีลูกในจังหวะที่ลูกกระเด้งขึ้นสามารถตีได้ 2 แบบคือ จะตั้งหน้าไม้คว่ำไว้เฉยๆหรือจะกระแทกลูกกลับไป ส่วนการตีบล้อคลูกในจังหวะที่ลูกลอยลงไม่จำเป็นต้องคว่ำหน้าไม้มากนักเพราะทิศทางของลูกที่ลอยลงจะหักล้างกับอิทธิพลของการหมุนที่ดีดลูกขึ้นอยู่ในตัว แต่ถ้าเก่งมากก็ไม่ต้องบล้อคแต่ให้ topspin สวนกลับไปได้เลย

นักปิงปองมือใหม่มักบล้อคลูกไม่อยู่ ตีลูกออกบ้างหรือลอยกลับไปโด่งเกินไปบ้าง ซึ่งมักแนะนำให้แก้ไขโดยคว่ำหน้าไม้ให้มากขึ้น แต่การแนะนำเช่นนี้ยังไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุที่เกิดจากการที่นักปิงปองไม่ได้ตั้งหน้าไม้ไว้เฉยๆแต่กลับขยับหน้าไม้ที่คว่ำลงนั้นไปข้างหน้าในรูปแบบของการแทงด้วย

การขยับไม้แทงเป็นการหมุนสู้กับลูกที่หมุนมาเพราะส่งแรงผ่านเหนือจุดศูนย์กลางของลูกปิงปองเป็นท่าตีที่เหมือนกับการพยายามตี topspin กลับไป ทำให้แรงหมุนของลูก topspin ที่ลอยมามีอิทธิพลมากขึ้นเพราะแรงจากไม้ที่แทงไปข้างหน้าจะสวนตรงกับแรงของลูกที่หมุนมา ส่งผลทำให้ลูกปิงปองดีดออกจากไปจากไม้ได้แรงมากขึ้นไปอีกและมักกระเด้งออกจากไม้ยาวและโด่งเกินไปจนไม่ลงโต๊ะฝั่งตรงข้าม

ด้วยเหตุเดียวกันนี้ ในการรับลูกที่เสริฟมาสั้นๆหรือลงสุดปลายมือของผู้รับ หากเผลอแทงไม้สวนกับทิศทางการหมุนของลูกเสริฟก็จะรับออกไม่ลงโต๊ะ

ถ้าตั้งหน้าไม้ให้ดีแล้วผลักหรือเคาะกระแทกลูกให้แรงผ่านจุดศูนย์กลางของลูกในจังหวะที่ลูกกระเด้งสูงสุดหรือลอยขึ้นสูงจากเน็ต จะโต้กลับลูกหมุนได้ง่ายขึ้นมาก

ความหมุนของลูกปิงปองทำให้ปิงปองเป็นกีฬาที่เล่นยากกว่ากีฬาประเภทอื่นที่มีแต่แรงหรือเล่นทิศทางเพื่อเอาชนะเท่านั้น เนื่องจากลูกปิงปองมีน้ำหนักเบาจึงทำให้ความหมุนของลูกส่งผลต่อการลอยตัวมากกว่าลูกเทนนิสหรือลูกกลมๆของกีฬาประเภทอื่น

  • ถ้าหมุนแบบ topspin จะมีแรงกดอากาศด้านบนลูกมากขึ้น ทำให้ลูกปิงปองมีแนววิถีที่จะมุดลงเร็วกว่าปกติ
  • ถ้าหมุนแบบ backspin จะมีแรงยกตัวจากใต้ลูก ทำให้ลูกปิงปองมีแนววิถีที่จะลอยลงช้ากว่าปกติ

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เวลาฝึกลูก topspin ที่หมุนจัดมากขึ้นเท่าใด ต้องเล็งตีลูกให้มีวิถีที่สูงกว่าเน็ตให้มากขึ้นเท่านั้นและออกแรงให้ตีลูกยาวขึ้น อิทธิพลของแรงหมุนแบบ topspin จะปรับวิถีการลอยตัวให้ต่ำลงและสั้นลงไปเองในตัว แต่ถ้าตีเลียดเน็ตก็มักติดเน็ตแล้วมักเข้าใจผิดกันว่าเป็นเพราะคว่ำหน้าไม้มากเกินไป

มุมหน้าไม้จะคว่ำหรือหงายยังไม่สำคัญเท่ากับทิศทางของวงเหวี่ยงที่ส่งแรงเข้าหาลูก ... แล้วปล่อยให้ลูกปิงปองหมุนลอยไปตามลม

มาจินตนาการกันว่าจะส่งลูกปิงปองด้วยวิธีใด ที่จะทำให้ลูกปิงปองลอยขึ้นอย่างช้าเพื่อหลอกคู่ต่อสู้ว่าเป็นลูกที่ตีเบาๆ แต่พอข้ามเน็ตไปแล้วจะกลายเป็นลูกที่วิ่งลงเร็วขึ้น พอกระเด้งขึ้นก็จะดีดต่ำกว่าเน็ตเข้าหาตัวคู่ต่อสู้จนเขาตั้งตัวไม่ทัน

loopDrive

 

ไม่ใช่เรื่องที่จินตนาการคิดฝันขึ้นมาเองหรอก นี่เป็นเรื่องจริงของลูกปิงปองที่หมุนแบบท้อปสปิน แต่ไม่ใช่ลูกที่หมุนแบบธรรมดา หากต้องหมุนจัดมากๆและไม่ใช่ลูกที่วิ่งเร็วมากนักด้วย

 

loop

 spinvsspeed

 

ตามปกติความแรงกับความหมุนเป็นสิ่งที่ผกผันกันอยู่แล้ว ถ้าต้องการส่งลูกแรงๆให้วิ่งไปเร็วๆก็ย่อมทำให้ลดโอกาสที่จะปั่นลูกให้หมุนจัดมากๆ ดังนั้นหากต้องการส่งลูกที่วิ่งเร็วและหมุนมากๆไปพร้อมๆกันก็ต้องอาศัยแรงมากขึ้น

spinTrajectory

topvsNoSpin

ลูกที่หมุนแบบท้อปสปินจะสร้างแรงกดอากาศบนหัวลูกทำให้ที่ลูกลอยไปมีระยะทางสั้นกว่าลูกที่ไม่หมุน ยิ่งหมุนท้อปสปินมากขึ้น ยิ่งทำให้ระยะทางสั้นลงและมีวิถีขาลงที่ชันมากขึ้น ช่วยทำให้นักปิงปองสามารถตีลูกย้อยข้ามเน็ตได้ปลอดภัยมากขึ้นโดยไม่ต้องกลัวว่าลูกจะยาวเลยไปไม่ลงโต๊ะ อีกทั้งยังช่วยทำให้สามารถตีโยกคู่ต่อสู้ได้มุมกว้างมากขึ้นเพราะสามารถส่งลูกย้อยจากไกลๆมาลงสั้นๆหน้าเน็ตตรงเส้นข้างโต๊ะ ซึ่งตามปกติจะทำได้กับลูกที่คู่ต่อสู้ตีมาลงสั้นๆหน้าเน็ตและกระเด้งสูงกว่าเน็ตด้วยเท่านั้น

กว่าจะฝึกตีลูกท้อปสปินที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่ง่าย ต้องฝึกจนกว่าวิถีลูกจะเชื่อง อยากให้ลูกลอยไปช้าหรือเร็ว สั้นหรือยาว หมุนมากหรือน้อย ย้อยมากหรือน้อย

ฝึกควบคุมวิถีของลูกที่ลอยข้ามเน็ตไปให้ดูเหมือนว่าจะยาวเลยขอบโต๊ะ แต่กลับพุ่งลงปลายโต๊ะพอดีที่เส้นขาว

นักปิงปองที่ฝึกบนโต๊ะปิงปองรุ่นเก่าที่ใช้กันมานานจนผิวหน้ามันสะท้อนแสงได้จะไม่ค่อยได้เห็นลูกดีดนักหรอก โต๊ะที่ใช้ฝึกมานานผิวจะลื่นไม่มีแรงเสียดทานเหมือนโต๊ะใหม่ๆที่ใช้ในการแข่งขัน ลูกที่หมุนท้อปสปินจัดมากๆพอกระทบกับผิวโต๊ะปิงปองใหม่ๆจะดีดออกจากโต๊ะเร็วมาก แม้ลูกที่ส่งข้ามเน็ตไปจะย้อยสูงจากเน็ตมากแต่พอลูกกระทบผิวโต๊ะใหม่ๆ แรงหมุนจะทำปฏิกิริยากับแรงเสียดทานของผิวโต๊ะ ทำให้ลูกดีดขึ้นจากผิวโต๊ะเร็วกว่าความเร็วของลูกที่ลอยมาเสียอีก

Top spin angle

ทั้งนี้มุมที่ลูกท้อปสปินกระเด้งขึ้นจะมีมุมน้อยกว่ามุมที่ลอยลงและวิ่งพุ่งเข้าหาตัวคู่ต่อสู้ เมื่อส่งลูกยาวย้อยลงปลายโต๊ะบ้างหรือสั้นลงหน้าเน็ตบ้าง หมุนมากน้อยต่างกันไป คู่ต่อสู้ที่อ่านความหมุนของลูกไม่เป็นก็มักนึกว่าลูกจะกระเด้งสูงทำให้รับผิดจังหวะและตั้งมุมหน้าไม้ไม่ถูกต้องขึ้นมาทันที

spinRebounce


จากภาพนี้ความเสียดทานของผิวโต๊ะใหม่เก่าที่ต่างกัน จะส่งผลทำให้มุมที่ลูกปิงปองกระเด้งขึ้นจากโต๊ะต่างกัน โต๊ะใหม่จะมีมุมกระเด้งขึ้นของลูกท้อปสปินที่เตี้ยกว่าโต๊ะเก่า เพราะแรงเสียดทานของโต๊ะใหม่จะส่งแรงทำให้ลูกดีดไปข้างหน้าเข้าหาตัวคู่ต่อสู้ได้ดีมาก

ที่แปลกไปกว่านั้นคือ หากส่งลูกปิงปองที่ไม่หมุนหรือหมุนแบบแบ็คสปินน้อยๆลงบนโต๊ะปิงปองตัวใหม่ พอลูกกระทบผิวโต๊ะจะกลิ้งไปข้างหน้าทำให้ลูกที่ไม่หมุนกลายเป็นลูกหมุนแบบท้อปสปินไปเอง ส่วนลูกที่หมุนแบบแบ็คสปินน้อยๆจะกลายเป็นลูกที่ไม่หมุนเมื่อกระเด้งขึ้นจากโต๊ะ กลายเป็นเคล็ดลับในการเสริฟที่น้อยคนทราบ

โต๊ะปิงปองที่ใช้มานานนอกจากผิวหน้าจะเสียความเสียดทานไปมากแล้ว ผิวหน้ายังมีรอยหลุมเล็กๆหรือเป็นลูกคลื่นได้อีกโดยเฉพาะโต๊ะเก่าที่ผ่านการใช้มาอย่างสมบุกสมบันหรือปล่อยให้นักปิงปองฝึกฟันไม้ลงบนผิวโต๊ะ ไม่ใช่แค่ขอบหน้าไม้ปิงปองจะบิ่นไปเท่านั้น ผิวหน้าและขอบมุมโต๊ะยังเสียหายตามไปด้วย

โต๊ะปิงปองเป็นสมบัติอันล้ำค่าของนักปิงปองที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาให้ดีที่สุด เมื่อเลอะน้ำมันเพราะใช้มือจับหรือเปียกเหงื่อต้องเช็ดให้สะอาด ห้ามนั่ง วางของใช้ หรือวางเท้าบนโต๊ะเพื่อยืดเส้นยืดสายเป็นอันขาด

Go to top