จะต้องวางเท้าให้ห่างจากปลายโต๊ะเท่าใดดี เห็นนักปิงปองบางคนมีท่าวัดระยะเสียด้วยโดยเอาข้อศอกติดพุงแล้วปลายไม้ที่ยื่นไปที่โต๊ะต้องแตะกับปลายโต๊ะพอดี ซึ่งที่จริงแล้วจะห่างแค่ไหนขึ้นกับเหตุผลหลายประการ
- ควรยืนในระยะห่างที่สามารถตีลูกได้ทั้งลูกที่ส่งมาสั้น ลงกลางโต๊ะ หรือลงปลายโต๊ะได้อย่างสบายโดยไม่ต้องเคลื่อนตัวเข้าหาหรือถอยออกจากโต๊ะทุกลูก ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ก็ต้องฝึกตีลูกที่พุ่งกระเด็นขึ้นจากโต๊ะให้ได้ทุกจังหวะ ถ้าลูกที่คู่ต่อสู้ส่งมาสั้นก็รอให้ลูกกระดอนขึ้นและลงก่อนจึงตี ถ้าลูกยาวลงปลายโต๊ะก็ต้องตีลูกในจังหวะเพิ่งกระเด้งขึ้นได้ด้วย ดังนั้นนักปิงปองต้องฝึกตีลูกให้ได้ในทุกจังหวะ ไม่ใช่เอาแต่ตีลูกในจังหวะกระเด้งสูงสุดหรือย้อยลงอย่างเดียว
- ถ้าคู่ต่อสู้เป็นมือรับ เราก็ควรยืนใกล้โต๊ะเพื่อทำหน้าที่บุก
- ถ้าคิดว่าจะถูกบุกแรงๆเร็วๆซึ่งระบบประสาทของมนุษย์ไม่สามารถตอบสนองได้ทันท่วงทีหากยืนใกล้โต๊ะ ก็ต้องยืนรับห่างจากโต๊ะมากหน่อยเพื่อให้มีเวลานานพอที่สมองและตาสามารถมองลูกและโต้ตอบกลับไปได้ทัน
- ถ้าส่งลูกไปสั้นหรือเสริฟสั้นก็ควรยืนใกล้โต๊ะเพื่อรอรับลูกใกล้โต๊ะ แต่ถ้าส่งลูกยาวหรือเสริฟยาวก็ควรถอยห่างจากโต๊ะหน่อยเพื่อรับลูกยาวที่โต้กลับมา
ผลจากการยืนห่างโต๊ะ ย่อมทำให้ต้องก้าวเท้าเข้าหาลูกเร็วขึ้นและมีระยะทางไกลขึ้นซึ่งต้องอาศัยฟุตเวิร์คที่ดีขึ้นตามไปด้วย
ก่อนที่จะฝึกการตีท่าอื่นๆ ท่าเตรียมพร้อมถือเป็นจุดเริ่มต้นที่นักปิงปองต้องปรับท่าทางการวางมือเท้าและลำตัวของตัวเองให้เหมาะสม ซึ่งท่าเตรียมพร้อมของแต่ละคนและท่าเตรียมพร้อมในการตีลูกแต่ละประเภทไม่จำเป็นต้องใช้ท่าเดียวกัน ขึ้นกับรูปร่างและความถนัดในการตี เช่น คนที่มีรูปร่างสูงอาจมีความจำเป็นต้องก้มตัวมากหน่อย หรือถ้าเป็นคนที่ชอบบุก topspin ก็ต้องก้มตัวและย่อขามากหน่อยเพื่อจะได้ใช้แรงอัดจากขาและเอวได้เต็มที่ อีกทั้งเมื่อเหวี่ยงแขนส่งแรงขึ้นข้างบนก็ยังไม่เสียสมดุล หรือเตรียมพร้อมเพื่อสะดวกในการเคลื่อนตัวรับลูกเสริฟ
ท่าเตรียมพร้อมในการรับลูกเสริฟ
- ให้ยืนในตำแหน่งตรงกับข้ามหรือทะแยงมุมกับการยืนของผู้เสริฟเพื่อควบคุมมุมรับของลูกปิงปองที่เป็นไปได้
- สายตาต้องอยู่ในระดับที่สามารถมองเห็นการตีลูกจากคู่ต่อสู้ได้ชัดเจน
- ยกไม้ปิงปองชี้ไปข้างหน้าและอย่าปล่อยให้หัวไม้ต่ำกว่าข้อศอก
- ลำตัวบนเอนไปข้างหน้าเล็กน้อยโดยหุบงอช่วงเอว พยายามรักษาแนวกระดูกสันหลังให้ตรงไว้ ไม่โค้งงอ
- เพื่อรักษาสมดุลของน้ำหนักไม่ให้ล้ม ดังนั้นต้องงอเข่าเล็กน้อยและวางเท้าให้ห่างกันอย่างน้อยเท่ากับระยะของช่วงไหล่
- ทิ้งน้ำหนักลงที่ฝ่าเท้าเพื่อช่วยให้เคลื่อนตัวได้อย่างรวดเร็ว อย่าทิ้งน้ำหนักตัวไว้ที่ปลายนิ้วเท้าเพราะยากจะรักษาสมดุลของร่างกาย และอย่าทิ้งน้ำหนักลงที่ส้นเท้า
- แนวของปลายเท้าซ้ายอาจวางไว้ในแนวเดียวกับปลายเท้าขวาหรือวางไว้หน้าหรือหลัง ขึ้นกับความถนัดในการรับลูกว่าชอบโต้กลับด้วยโฟร์แฮนค์หรือแบคแฮนด์
อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบันการตีปิงปองต้องอาศัยการเคลื่อนไหวตัวอย่างรวดเร็ว จึงมีคำแนะนำอีกทางหนึ่งให้วางเท้าไม่ต้องห่างกันนักและไม่ต้องก้มตัวมาก เพื่อช่วยทำให้สามารถขยับตัวและก้าวเท้าออกไปถ่ายน้ำหนักในการรับลูกได้คล่องตัวขึ้น (แทนที่จะใช้วิธีดีดเท้ากระโดดเข้าออกซึ่งมักทำให้เสียสมดุลในการตีลูก) และเมื่อเคลื่อนตัวไปตั้งหลักแล้วให้วางเท้าให้เต็มเท้าเพื่อเป็นฐานที่มั่นคงสำหรับการออกแรง
ท่าเตรียมพร้อมสำหรับการรับลูกเสริฟไม่จำเป็นต้องเหมือนกับท่าเตรียมพร้อมสำหรับการตีแบบอื่นๆ ประเด็นสำคัญที่สุดอยู่ที่การเคลื่อนไหวไปเตรียมพร้อมยังตำแหน่งที่เหมาะสมให้เร็วมากขึ้นเพื่อมีเวลาพอที่จะตั้งท่าที่พร้อมสำหรับการตีท่าต่อไปได้เร็วและแรงที่สุด อย่านำท่าเตรียมพร้อมสำหรับรับเสริฟไปใช้กับการตีทุกท่า
ภาพซ้ายสุด ถ้าวางเท้าขนานกับปลายโต๊ะ จะขยับตัวในแนวซ้ายขวาได้ง่าย แต่มีจุดอ่อนในการขยับตัวเข้าออก
ภาพขวาสุุด ถ้าวางเท้าไว้เฉียงกันมากๆ จะขยับตัวเข้าออกได้ง่ายและถ่ายน้ำหนักในการตีลูกแรงๆได้ดี แต่ขยับตัวไปทางซ้ายขวาได้ยาก
เนื่องจากการตีปิงปองต้องการความรวดเร็วเป็นอย่างมาก ต้องเตรียมท่าพร้อมรับลูกปิงปองที่อาจโต้กลับมาในทุกทิศทาง ดังนั้นจึงมักแนะนำให้วางเท้าซ้ายและขวาในท่าที่ขนานกับเส้นขอบโต๊ะด้านหลัง เพื่อสามารถตีลูกทั้งโฟร์แฮนด์หรือแบคแฮนด์ได้ทันท่วงที แต่ถ้ารับลูกห่างโต๊ะซึ่งมีเวลาเพียงพอสำหรับการเตรียมพร้อมมากขึ้นก็สามารถวางเท้าซ้ายให้อยู่หน้าเท้าขวาเพื่อมีระยะทิ้งน้ำหนักช่วยในการตีโฟร์แฮนด์จากระยะไกลได้แรงขึ้น
นักปิงปองมือใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการถ่ายน้ำหนักที่ถูกต้องหรือยังหาท่าวงสวิงเหวี่ยงไม้ของตัวเองที่ถนัดไม่ได้ ยังไม่ควรฝึกวางเท้าแบบขนานกับเส้นขอบโต๊ะด้านหลัง เพราะท่านี้ต้องใช้ความชำนาญในการถ่ายน้ำหนักและเหวี่ยงแขนตีลูกให้ได้เร็ว แรง และแม่นยำในระยะวงเหวี่ยงสั้นๆ ถ้าพยายามฝึกท่านี้ตั้งแต่แรกจะทำให้รักษาสมดุลของการทรงตัวได้ยากมาก บางคนอาจใช้วิธีดัดหน้าไม้ช่วยหรือไม่กล้าเหวี่ยงตีลูกแรงๆ กลายเป็นนิสัยเสียที่ต้องมาแก้ไขกันอีกในภายหลัง
การวางเท้าแบบขนานเพื่อช่วยในการพร้อมตีกลับได้สะดวกทั้งโฟร์แฮนด์และแบ็คแฮนด์ แต่เมื่อจะตีจะเคลื่อนเท้าออกจากแนวขนานเพื่อช่วยในการอัดแรงและออกแรง
ในระยะแรกควรฝึกตีโต้ลูกที่ไม่เร็วเกินไปให้แม่นยำก่อน หากฝึกตีโฟร์แฮนด์ให้วางเท้าขวาไว้ห่างจากขอบโต๊ะไกลกว่าเท้าซ้าย หากตีแบคแฮนด์ให้วางเท้าซ้ายไว้ห่างจากขอบโต๊ะไกลกว่าเท้าขวา หันลำตัวเอียงตามทิศทางของการวางเท้า แล้วฝึกตีโดยถ่ายน้ำหนักจากเท้าหลังมาเท้าหน้าช่วยในการส่งแรง จากนั้นฝึกตีให้แรง เร็ว และหมุนขึ้นไปเรื่อยๆ ที่สำคัญคือต้องแม่นยำก่อน พอคุ้นเคยกับวงเหวี่ยงของตัวเองที่ถนัดแล้วจึงค่อยปรับการวางเท้าในการพร้อมตีลูกถัดไปมาเป็นแบบขนานกับเส้นขอบโต๊ะทีละเล็กทีละน้อย
อย่างไรก็ตามหากสังเกตการวางเท้าของแชมป์ จะเห็นว่าการวางเท้าแบบขนานของเขาไม่ได้วางเท้าให้ขนานกับเส้นขอบโต๊ะด้านหลังนักหรอก แต่เขาจะเคลื่อนตัวไปเตรียมพร้อมในทิศทางฝั่งตรงกันข้ามกับคู่ต่อสู้หรือในตำแหน่งที่คาดการณ์ว่าคู่ต่อสู้จะส่งลูกมา แล้วรีบวางเท้าให้พร้อมสำหรับการตีลูกของตน โดยในจังหวะก่อนที่จะอัดแรงและเหวี่ยงแขน เขาจะปรับการวางเท้าให้เท้าขวาอยู่ข้างหลังเท้าซ้ายในการตีโฟร์แฮนด์หรือวางเท้าซ้ายไว้หลังเท้าขวาเล็กน้อยในการตีแบ็คแฮนด์ พอตีลูกออกจากไม้ไปแล้วจึงวางเท้าให้ขนานกับตำแหน่งของคู่ต่อสู้เพื่อพร้อมตีลูกต่อไปได้สะดวกทั้งโฟร์แฮนด์และแบ็ดแฮนด์ แต่ถ้าเขามั่นใจว่าจะตีโต้กันด้วยโฟร์แฮนด์กลับไปก็จะวางเท้าขวาไว้ข้างหลังเท้าซ้ายตลอด
การใช้คำว่าขนานกับโต๊ะไม่ใช่คำที่ถูกต้องนัก ที่ถูกต้องและชัดเจนกว่าควรแนะนำให้วางเท้าเพื่อตั้งท่าเตรียมรับให้อยู่ฝั่งตรงข้ามและขนานกับจุดที่ไม้ของคู่ต่อสู้สัมผัสกับลูก หรือให้ตั้งฉากกับทิศทางของลูกที่คาดการณ์ว่าจะถูกตีกลับมา แล้ววางเท้าเมื่อตีลูกออกไปแล้วให้ตั้งฉากกับทิศทางของลูกที่ถูกตีออกไป (square to the incoming/outgoing ball)
ไม้ 3 เป็นชื่อเรียกการตีลูกครั้งที่ 3 เริ่มนับจากการเสริฟถือว่าเป็นไม้ 1 การรับเสริฟเป็นไม้ 2 และเมื่อผู้เสริฟตีลูกต่อไปกลับไปนั่นคือไม้ 3 ถ้ารู้จักเลือกตำแหน่งยืนไม้ 3 ได้เหมาะสม จะช่วยทำให้สามารถตีลูกบุกเพื่อทำคะแนนในไม้ 3 ได้เลย หรือถ้าฝ่ายรับเสริฟเขารับมาดี ทำให้คุณไม่สะดวกที่จะบุกไม้ 3 ก็ยังใช้ไม้ 3 สำหรับตีลูกที่นำทางไปสู่การบุกในไม้ 5
นักปิงปองส่วนใหญ่ชอบยืนเสริฟโฟร์แฮนด์ (Pendulum Serve) จากทางมุมแบ็คแฮนด์ แต่จะเปิดพื้นที่บนโต๊ะทางด้านโฟร์แฮนด์ไว้ ทำให้ฝ่ายรับเสริฟสามารถตีลูกโยกมาทางมุมโต๊ะด้านที่เปิดโล่งได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเสริฟไปแล้วผู้เสริฟต้องขยับตัวไปตั้งท่าพร้อมตีไม้ 3 ในตำแหน่งที่คาดการณ์ไว้ว่าเป็นตำแหน่งที่ลูกจะถูกส่งกลับมามากที่สุด หรือถ้าถูกโยกก็ต้องสามารถเคลื่อนตัวไปตีไม้ 3 ได้ทัน
จากวิดีโอนี้ ลูกเสริฟแรกถูกส่งลูกยาวไปทางโต๊ะด้านแบ็คแฮนด์ของคู่ต่อสู้ ดังนั้นโอกาสที่จะรับลูกเสริฟในไม้ 2 กลับมาลงทางด้านแบ็คแฮนด์ของฝ่ายเสริฟจึงเป็นไปได้มากที่สุด ถ้าถูกไม้ 2 โยกไปทางโฟร์แฮนด์ก็ทำได้แค่เป็นลูกตรง สามารถเคลื่อนตัวไปตีไม้ 3 ได้ไม่ยาก ดังนั้นตำแหน่งยืนไม้ 3 จึงไม่จำเป็นต้องเคลื่อนตัวไปทางขวาของผู้เสริฟมากนัก
ลูกเสริฟลูกที่สองส่งลูกยาวไปทางโต๊ะด้านโฟร์แฮนด์ของคู่ต่อสู้ ซึ่งถ้าถูกโยกไม้ 2 จะมีมุมที่โยกได้กว้างมาก ดังนั้นเมื่อเสริฟไปแล้วจึงต้องขยับตัวไปตั้งท่าเตรียมพร้อมไปทางขวามือให้มากขึ้นหน่อย แต่ถ้าเสริฟสั้นไปลงทางโต๊ะด้านโฟร์แฮนด์ของคู่ต่อสู้ก็ต้องเคลื่อนตัวไปทางขวามือมากขึ้นไปอีกเพราะลูกสั้นมีมุมโยกกลับที่กว้างมาก
ถ้าเสริฟยาวไปลงกลางโต๊ะของคู่ต่อสู้ ก็ไม่ต้องเคลื่อนตัวไปไกลจากตำแหน่งเดิมนัก เพราะมุมโยกของลูกที่รับกลับมามีน้อยกว่าลูกที่ส่งไปลงตามมุมโต๊ะอย่างมาก แต่ถ้าเสริฟสั้นไปลงกลางโต๊ะจะมีมุมถูกไม้ 2 โยกกว้างมากที่สุดยากจะวิ่งไปรับทัน
นักปิงปองมือใหม่หรือคนที่ขาฟุตเวิร์คไม่ดีมักยืนใกล้โต๊ะมากไป ทำให้ไม่มีระยะกว้างพอสำหรับเหวี่ยงวงสวิง และเมื่อเคลื่อนตัวไปตีลูกแล้วชอบก้าวเท้ากลับมาตรงมุมแบ็คแฮนด์โดยอัตโนมัติ ซึ่งที่ถูกต้องนักปิงปองต้องเคลื่อนตัวไปตั้งท่ารับในตำแหน่งที่พร้อมจะตีลูกถัดไปได้สะดวกต่างหาก
นักปิงปองส่วนใหญ๋ในวันนี้มักเป็นเด็กวัยรุ่นมีนิสัยตามวัยคะนองที่ชอบบุกหรือใช้ความแรงความหมุนเอาชนะคู่ต่อสู้ พอออกแรงบุกไปกะว่าจะทำคะแนนได้ก็ทุ่มสุดแรงเกิดโดยไม่คิดเผื่อว่าคู่ต่อสู้จะตีโต้กลับมาได้อีก เมื่อตีโต้กันแรงๆแบบดวลกันก็ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องหลายๆครั้ง ถ้าคู่แข่งขันมีฝีมือพอๆกันหรือดีกว่า คนที่มีพื้นฐานดีกว่าเท่านั้นที่จะเอาตัวรอด
การวางเท้าก่อนจะเริ่มเหวี่ยงไม้ต้องมีความมั่นคง ต้องเคลื่อนตัวเข้าหาลูกแล้ว"หยุด"การเคลื่อนตัวเพื่อสร้างสมดุลแล้วจึงถ่ายน้ำหนักตัวเข้าหาลูก จึงต้องรู้จักคาดการณ์ก่อนล่วงหน้าว่าลูกจะย้อนกลับมาที่ใดจะได้เคลื่อนตัวไปรอไว้ก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลารวดเร็วมากแค่คิดก็ไม่ทันแล้ว ดังนั้นนักปิงปองจึงต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกในหลายสถานการณ์ ฝึกจนชินจะได้สามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียเวลาคิด
จากวิดีโอนี้จะเห็นว่านักกีฬาจีนทั้งคู่วางเท้าซ้ายขวาไว้ห่างจากกันมากทำให้มีหลักที่มั่นคงมากในการออกแรงโดยไม่เสียสมดุล เขาย่อตัวโดยอาศัยการงอเข่าซึ่งทำให้สามารถใช้แรงดีดจากเข่าและเท้าในการเคลื่อนตัวไปหาลูก แต่การวางเท้าที่ห่างเมื่อถูกโยกจะเคลื่อนตัวได้ช้ากว่าการวางเท้าให้แคบ เรียกว่าได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง อย่างไรก็ตามการส่งลูกยาวแบบทะแยงไปลงปลายโต๊ะ ถึงคู่ต่อสู้จะโยกกลับมาก็ไม่มีทางที่จะตีฉีกไปไกลจากตัวได้มากนัก
ขอให้สังเกตแนวลำตัวตั้งแต่เอวขึ้นไปจนถึงศีรษะว่าถูกใช้เป็นแกนในการหมุนลำตัวส่วนบนเพื่อเหวี่ยงแขน และแนวลำตัวยังคงเป็นเส้นตรงแทบจะตั้งฉากกับพื้นตลอดเวลา ช่วยทำให้สายตายังจับจ้องไปข้างหน้าได้ตลอด
แทนการถ่ายน้ำหนักจากเท้าหลังไปเท้าหน้าแบบดีดขึ้นซึ่งต้องเสียเวลาถ่ายน้ำหนักกลับจากเท้าหน้ามาเท้าหลัง กลับใช้การถ่ายน้ำหนักตามแนวนอนตามแนวระนาบเพื่อช่วยให้แนวลำตัวคงที่ได้ตลอด หรือเปลี่ยนไปถ่ายน้ำหนักดีดขึ้นจากทั้งสองขาพร้อมกัน
นอกจากนี้ท่าการวางลำตัวในการเสริฟและหลังจากเสริฟยังรักษาสมดุลดีมาก ทำให้พร้อมสำหรับไม้สามไม่ว่าจะพร้อมรับหรือพร้อมรุกก็ตาม
ที่สำคัญคะแนนแต้มนี้ไม่ได้เกิดจากการบุกจนสุดแรงแม้แต่น้อย แต่ใช้การส่งลูกไปยังตำแหน่งที่คู่ต่อสู้ตีไม่ถนัด ชิดตัวบ้าง ห่างตัวบ้าง พอคู่ต่อสู้ถอยก็ตีลูกสั้นลงและลดความแรงลงจนทำให้เสียหลักส่งลูกกลับมาไม่ลงโต๊ะ
ทำไมฝึกหนักแทบตายก็ยังไม่เก่งเสียที ?
แน่นอน คำตอบที่ตอบกันก็คือ ยังฝึกซ้อมไม่พอ ต้องฝึกแล้ว ฝึกอีก ซ้อมแล้ว ซ้อมอีก แต่ถ้ายังไม่สามารถจัดองค์ประกอบของร่างกายให้ถูกต้อง ต่อให้ฝึกหนักแสนหนักก็ไปได้ไม่ไกลนักหรอก
จากวิดีโอนี้สังเกตอะไรได้บ้าง อะไรคือสิ่งที่ทำให้นักกีฬาจีนสามารถเคลื่อนที่ได้เร็ว ตีลูกต่อเนื่องได้โดยไม่เสียสมดุล ซึ่งตามปกติยิ่งต้องการตีลูกแรง ยิ่งต้องใช้แรงที่ส่งมาจากขาสู่ลำตัวแล้วไปสิ้นสุดที่ปลายไม้ปิงปองตามลำดับ แต่การออกแรงที่ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเคลื่อนกลับไปกลับมา ระหว่างข้างหลัง-ข้างหน้าหรือข้างซ้าย-ข้างขวา ย่อมทำให้เสียเวลาในการเคลื่อนไหว
นอกจากนี้การมองว่าคู่ต่อสู้โต้กลับมาอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้นในการตีลูกทุกลูก แม้สายตาต้องมองที่ลูกปิงปองที่วิ่งมาจนกระทั่งกระทบไม้ของเราออกไปก็ตาม แต่สายตาของนักปิงปองจีนยังคงมองไปข้างหน้าได้เสมอ เขาทำได้อย่างไร
เพื่อทำให้นักปิงปองสามารถรักษาสมดุลของร่างกายและจุดศูนย์ถ่วง จากวิดีโอนี้จะเห็นว่านักปิงปองจีนใช้การถ่ายน้ำหนักจากเท้าไปสิ้นสุดที่เอว ส่วนลำตัวตั้งแต่เอวถึงไหล่มีการขยับบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ลำตัวอาจจะเอียงไปข้างหลังหรือด้านข้างบ้างในช่วงอัดแรงแต่พอปล่อยแรงออกไปจะเคลื่อนแนวลำตัวมาตั้งฉากกับพื้นไว้เสมอ กลายเป็นท่าเตรียมพร้อมสำหรับตีลูกถัดไปได้ทันที
เมื่อใช้แรงจากเอวถึงไหล่น้อยลงก็ต้องเสริมแรงจากการถ่ายน้ำหนักจากขาสู่เอวให้มากขึ้น ในการตีโฟร์แฮนด์ในจังหวะทิ้งน้ำหนักไปที่เท้าขวานั้นจะงอเข่าขาซ้ายพับลงไป เพื่อทำให้น้ำหนักตัวส่วนใหญ่ทิ้งไปที่เท้าขวา
พอดีดเท้าขวาขึ้นก็จะเปลี่ยนมางอเข่าขวาพับลงไปแทนทำให้น้ำหนักตัวถ่ายเทมาที่ขาซ้ายเองไปในตัว ช่วยทำให้ไม่ต้องเสียแรงและเสียเวลาในการถ่ายน้ำหนักจากเท้าขวามาเท้าซ้าย
ส่วนการตีแบ็คแฮนด์จะใช้วิธีถ่ายน้ำหนักโดยดีดทั้งสองขาขึ้นพร้อมๆกันแทนที่จะถ่ายน้ำหนักจากเท้าหลังมาเท้าหน้า
เมื่อดูในภาพรวมจะเห็นลำตัวของนักปิงปองจีนเป็นเหมือนกำแพงเมืองจีนที่ตั้งอยู่กับที่แทบไม่เคลื่อนไหว มีแต่ขาและแขนเท่านั้นที่ขยับไปมาอย่างรวดเร็วมากๆพากำแพงเมืองจีนเคลื่อนไปตั้งป้อมปราการรับลูกปิงปองที่ส่งมาได้ทุกที่